เจ้าหน้าที่ ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ หรือ ครูฝึก Trak ครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ของโรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ หรือ Chicago PD ให้สัมภาษณ์กับ 'วีโอเอ ไทย' เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำความผิดพลาดเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระแสความไม่พอใจการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจนครมินนีแอโปลิส ที่ทำให้นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว จนมีการชุมนุมประท้วงลุกลามไปทั่วสหรัฐฯ
จากน้ำผึ้งหยดเดียว กระทบคนในเครื่องแบบนับล้าน
“ตำรวจในอเมริกาเท่าที่ผมไปทำรีเสิร์ช (ค้นคว้า)มา พบว่ามีเกือบประมาณ 1 ล้านคนในทุกองค์กร ถ้าคนๆเดียวจากเมืองไหนก็แล้วแต่ ทำผิดแบบนี้มันก็เสียไปหมดในสายตาของประชาชน เพราะว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องแบบเหมือนกันหมด ประชาชนจะไม่มาดูว่านี่เจ้าหน้าที่คนนั้นคนนี้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากมินนิโซตา ประชาชนเขาก็นับรวมกันไปหมด และสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจผมคิดว่า ถ้ามินนีแอโปลิส ทำแบบนี้ ตำรวจที่ชิคาโก แอลเอพีดี (LAPD) เอ็นวายพีดี (NYPD) ก็ต้องทำอย่างนี้สิ เขาคิดว่าองค์กรตำรวจในอเมริกาคงทำเหมือนกันหมด แต่จริงๆแล้วมันไม่เหมือนกันครับ”
ถ้าตำรวจ เพียงคนเดียวจากเมืองไหนก็แล้วแต่ ทำผิดแบบนี้มันก็เสียไปหมดในสายตาของประชาชน เพราะว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่ใส่เครื่องแบบเหมือนกันหมด...ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ครูฝึกตำรวจและผู้เชี่ยวชาญ Chicago PD
ตำรวจ จาก 'ผู้กระทำ' กลายเป็น 'ผู้ถูกกระทำ'
แม้เหตุการณ์นี้จะมีจุดเริ่มต้นจากการกระทำของตำรวจนครมินนิแอโปลิส ในรัฐมินนิโซตา ที่ตำรวจอยู่ในฐานะผู้กระทำจนเกิดการเสียชีวิต แต่ผลที่ออกมากลับมากเกินกว่าที่ใครจะคิด เมื่อตำรวจทั้งสหรัฐฯ ต้องกลายเป็น ผู้ถูกกระทำ หลังเกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจที่ไปทั่วประเทศ
“ทำงานลำบากมากขึ้นเลยครับ ก็มีเพื่อนตำรวจทั่วอเมริกา และก็มีตำรวจเพื่อนคนไทยที่ผมเคยได้โอกาสไปสอนที่เมืองไทย ก็จะส่งข้อความมาแสดงความเป็นห่วง ผมก็บอกเขาไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ คุณฟลอยด์ ทำให้ตำรวจในอเมริกา และตำรวจตามเมืองใหญ่ๆ ทำงานลำบากมากเลยครับ..
..ตอนนี้มาอยู่หน่วยลาดตระเวน (Patrol) ในช่วงกลางวัน ผมก็จะขับรถคนเดียว ก็ต้องคอยดูอยู่เรื่อยเพราะเราไม่รู้ว่าประชาชนที่ยืนอยู่ตามถนน ที่ออกมาจากรถในลานจอด จะเป็นใคร คิดกับเรายังไง แล้วที่ดูในเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นมา 2-3 วันนี้ และอาทิตย์ที่แล้วเนี่ย ตำรวจโดนทำร้ายเยอะมากเลยครับ เมื่อวันเสาร์ที่แล้วที่มีการประท้วงกัน ตำรวจชิคาโกก็บาดเจ็บไป 50 กว่าคน คราวนี้มันก็เลยทำให้ผมและเพื่อนตำรวจทำงานด้วยความยากลำบาก เราจะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เขาจะมาแอทแท็ค (โจมตี) เราเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากในช่วงนี้เลย”
มาตรฐานที่ผิดพลาดไม่ได้
ครูฝึก จากโรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก บอกว่า สิ่งเหล่านี้คือวิกฤตศรัทธาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องนำมาเป็นบทเรียน ให้สมกับเกียรติภูมิ และ อำนาจบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ
“เราเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในอเมริกาอาชีพตำรวจเราจะเรียกว่า being held at higher standard (การปฏิบัติหน้าที่ด้วยมาตรฐานระดับสูง) ที่มีมาตรฐานการทำงานสูงกว่าอาชีพอื่น เพราะประชาชนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในแง่ของกฎหมาย สามารถบังคับใช้ยึดเอาสิทธิมนุษยชนแต่ละคนไปได้ หมายความว่าถ้าผมจับคนแล้ว คุณเข้าคุกแล้ว คุณไม่มีสิทธิ ผมเอาไปได้ และเรื่องใหญ่ที่ประชาชนที่นี่ไว้วางใจ คือเรามีอาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธทำอันตรายถึงตาย ที่ประชาชนเขาให้เกียรติเรา เขามีความเชื่อมั่นกับเรา ให้เรามีปืนเพื่อจะป้องกันตัว และป้องกันประชาชน มันก็ถึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนอเมริการับไม่ได้ ชาวมินนีแอโปลิสรับไม่ได้ ในวงการตำรวจเราเองก็รับไม่ได้ เพราะมันทำให้เราเสียหายกันหมด..
..ผมคิดว่า เราเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จริง ความหวังของประชาชนสูง ด้วยมาตรฐานที่สูง (being held at higher standard) แต่เราก็ยังเป็นมนุษย์ เราก็ยังเป็นคน เรามีความรับผิดชอบ เราทำผิดพลาดได้ ผมคิดว่าถ้าเราผิดพลาดแล้วเราต้องยอมรับผิด และ ขอโทษ.."
เราเป็นตำรวจก็จริง เรามีมาตรฐานการทำงานสูง แต่เราก็ยังเป็นมนุษย์ เราก็ยังเป็นคน เรามีความรับผิดชอบ เราทำผิดพลาดได้ ผมคิดว่าถ้าเราผิดพลาดแล้วเราต้องยอมรับผิด และ ขอโทษ. ...ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ ครูฝึกตำรวจและผู้เชี่ยวชาญ Chicago PD
บทเรียนราคาแพงของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
นอกจากนื้ ครูฝึกตำรวจเชื้อสายไทย แห่ง Chicago PD ยอมรับว่า แนวทางปฏิบัติการทางยุทธวิธีของตำรวจจำเป็นต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ เพื่อนำไปปรับปรุงให้มีความชัดเจนและปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะการเน้นย้ำหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนฝึกตำรวจทุกแห่ง
“เหตุการณ์จากเรื่องนี้ (การตายของฟลอยด์) ตัวผมเองผมก็รับไม่ค่อยได้ ไม่ใช่ไม่ค่อยได้ แต่ผมรับไม่ได้เลยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกมาแบบนี้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำแบบนี้ และเรื่องที่ผมอยากจะพูดคือ การใช้กำลังของตำรวจ ทุกองค์กรผมพูดได้เลย เพราะผมถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กำลังของตำรวจชิคาโก คือทุกองค์กรของตำรวจในอเมริกานั้น การใช้กำลังจะต้องสมดุลกัน หรือ ที่เรียกว่า proportion (ความเหมาะสมตามสัดส่วนการใช้กำลัง) คือการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องหา หรือคนร้าย กับการรับของตำรวจมันต้องเท่ากัน..
สัดส่วนการใช้กำลังที่ไม่สมดุล
.. ถ้าเราดูในกรณีของ ‘ฟลอยด์’ อย่างมากก็คือขัดขืน เป็นอย่างมากเท่านั้น ผมยังไม่เห็นว่ามีหลักฐานตรงไหนที่มากกว่านั้น ก็คืออาจจะขัดขืนไม่อยากเข้ารถ อะไรก็แล้วแต่.. แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้กลับใช้ deadly force (การใช้กำลังถึงตาย) ถึงแม้จะยังไม้ได้ใช้อาวุธก็ตาม คือใช้กำลังจนทำให้เขาถึงแก่ความตาย เพื่อทำให้ไม่หายใจ คือหมายถึงการที่เอาเข่าดันลงไปที่คอ มันก็ไม่ได้แปลกหรือแตกต่างอะไรกับการบีบคอ หรือเรียกว่า chokehold หรือการปิดกั้นลมหายใจเขา ซึ่งการกั้นไม่ให้เขาหายใจ ไม่ให้ออกซิเจนเพื่อหายใจ ใน policy (นโยบาย) หรือ protocol (กฎระเบียบ) ของตำรวจนั่นคือเข้าหลักการใช้ deadly force หรือใช้อาวุธถึงตาย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสัดส่วนการใช้กำลัง.."
ผมคิดว่าจากนี้ไปแล้ว มันก็เป็นบทเรียนที่แย่ ที่เสียหายมาเยอะ ผมก็คิอว่าเขา (ทางการนครมินนิแอโปลิส) ก็ควรที่จะเปลี่ยน กฎเกณ์การปฎิบัติหรือ นโยบาย ให้ทำข้อห้าม (การใช้กำลังกดคอขณะสวมกุญแจมือ) นี้ออกมาเลย เพราะว่าผมรู้ว่า ตำรวจนครนิวยอร์ก (NYPD) ตำรวจนครลอสแอนเจลิส LAPD หรือ ตำรวจชิคาโก Chicago PD เราทำแบบนี้ไม่ได้" ครูฝึก Trak บอกกับ วีโอเอ ไทย
เจ้าหน้าที่ ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์ เป็นตำรวจชิคาโก พีดี เชื้อสายไทยคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นครูฝึกที่โรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์มานานกว่า 10 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านการฝึกยุทธวิธีและทักษะการต่อกรกับคนร้าย เพื่อออกแบบหลักสูตรการฝึกตำรวจชิคาโก นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของ Chicago PD ให้ความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาความเหมาะสมการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในแต่ละสถานการณ์อีกด้วย