นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทยถึง ผลกระทบและนโยบายการจำกัดปริมาณการส่งออกยางพารา ซึ่งไทยได้ร่วมกับอีก 2 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ คือมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เริ่มควบคุมปริมาณการส่งออกเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคมนี้เพื่อพยุงราคายางพาราในประเทศ
'ยางพาราถือเป็นสินค้าสำคัญด้านการเกษตรของไทย และที่ผ่านมาก็จะมีเรื่องของราคาสินค้าตกต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะพยุงราคายางพาราในประเทศให้อยู่ที่ราว 50-60 บาทต่อกิโลกรัม เลยมีการประกาศออกมาด้วยมาตรการการส่งออกยางพาราซึ่งถือเป็นครั้งที่ 5 ของการใช้มาตรการนี้ โดยจะประกาศใช้ระหว่างเดือนมกราคม- มีนาคม พ.ศ.2561 นี้'
นางสาววนิดา อัครราชทูตที่ปรึกษาการเกษตรที่กรุงวอชิงตัน บอกว่า สหรัฐฯถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกอันดับต้นๆของไทยรองจากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของยางพาราซึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรวมประมาณ 85,000 ล้านบาท และยางพาราอยู่ที่ 1,200 ล้านบาทโดยเชื่อว่ามาตรการนี้ น่าจะส่งผลกระตุ้นต่อราคาในตลาดโลกได้
"อเมริกานั้น (ยางพารา) ก็เป็นสินค้าสำคัญ โดยถ้าดูตัวเลขถือเป็นยอดส่งยางพารามายังอเมริกาถือเป็นลำดับอันดับที่ 2 รองจากข้าว การเติบโตของสินค้ายางพาราที่เป็นยางดิบ มีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ขณะที่สินค้าลหลักๆก็จะเป็นประเภทลิตภัณฑ์ยาง ประเภท ยางรถยนต์ หรือ ถุงมือแพทย์"
อัครราชทูต ฝ่ายการเกษตร ทีกรุงวอชิงตัน บอกว่า มาตรการการลดปริมาณยางพาราในตลาดโลกที่ประกาศใช้ในแต่ละครั้งก่อนหน้านี้แม้จะส่งผลทำให้ราคายางขยับสูงขึ้น แต่จะไม่ใช่ในลักษณะที่ทำให้ตลาดโลกผันผวน
"ปกติการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว 4 ครั้งที่ผ่านมา ราคายางก็จะมีการขยับขึ้น เพราะแต่ละครั้งค่อนข้างใช้เวลานานตั้งแต่ 6-12 เดือน แต่ครั้งนี้ประกาศใช้ระยะเวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งน่าจะเห็นราคาเริ่มขยับภายในเดือนนี้ หรือเดือนหน้า (มี.ค.) ขณะที่ในระยะสั้นอาจจะยังไม่ส่งผลชัดเจนแต่ภายหลังก็อาจจะมีผลบ้าง แต่ในส่วนหนึ่งก็คือว่า ไม่ใช่ว่าเราอยากให้ราคาตลาดโลกผันผวน แต่เราส่วนหนึ่งคือเราอยากให้เกิดการแก้ไขปัญหาภายในบ้านเรา และมีการควบคุม รวมทั้งให้การผลิตของเราสามารถที่จะผลิตให้มีคุณภาพดีขึ้นในหลายส่วนและจูงใจตลาดในประเทศให้มีการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น"
สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานมุ่งเน้นเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในสหรัฐฯซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆของไทย
นอกจากนี้ยังทำงานด้านการประสานความร่วมมือการเกษตรกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และพัฒนาศักยภาพการเกษตรของไทยอีกด้วย