ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มุมมองของนักศึกษาไทยในกรุงมอสโกต่อสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย


Techit Nitnara, a Thai graduate student in Moscow, Russia
Techit Nitnara, a Thai graduate student in Moscow, Russia

วีโอเอไทยพูดคุยกับเตชิต นิตย์นรา นักศึกษาระดับชั้นปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Moscow State Institute of International Relations หรือ MGIMO ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ถึงบรรยากาศในกรุงมอสโกท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียเผชิญสารพัดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก สถานการณ์โดยรวมของชาวไทยในรัสเซีย และมุมมองของผู้คนในรัสเซียต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้

กรุงมอสโกที่ “ดูปกติ” ท่ามกลางมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ

“ตอนนี้คนใช้ชีวิตปกติมากๆ เรื่องของการทำงาน การใช้ชีวิต ทุกอย่างปกติ คนไปเดินเล่นไปทำงานเป็นปกติ ไม่ได้มีการสั่งให้หยุดเรียนอะไร” เตชิตกล่าวกับวีโอเอไทย

“เราอาจมองไม่เห็นจากสังคมทั่วไปในท้องถนน แต่ถ้าเราไปคุยกับคนในเชิงลึก เขาก็ประสบปัญหาในการถูกออกจากงานหรือถูกลดเงินเดือน” เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่ตามมาจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศตะวันตก เช่น เบอร์เกอร์คิง แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ หยุดให้บริการในรัสเซีย เพื่อร่วมลงโทษรัสเซียต่อการบุกรุกยูเครน

รอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ Oxford Economics ว่า อัตราการว่างงานในรัสเซียอาจสูงขึ้น 1.9 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า อันเนื่องมาจากมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย

ปัญหาทางการเงินหลักที่รัสเซียพบหลังเผชิญมาตรการลงโทษคือ กลไกระบบการเงินที่ผูกอยู่กับชาติตะวันตก เช่น ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศอย่าง SWIFT หรือบัตรเครดิตของวีซ่า มาสเตอร์การ์ด ไม่สามารถใช้ในรัสเซียได้ ทำให้มีปัญหาในการทำธุรกรรม ในขณะเดียวกัน บัตรที่ออกโดยสถาบันการเงินของรัสเซียก็ไม่สามารถใช้จ่ายในต่างประเทศได้เช่นกัน

เตชิตเล่าว่า ทางรัสเซียรับมือด้วยการปรับมาใช้ระบบภายในประเทศของตน เช่น ระบบชำระเงิน Mir ซึ่งเป็นระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารกลางรัสเซีย หรือระบบของประเทศที่ไม่ได้มีมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย เช่น ระบบยูเนียนเพย์ของจีนที่ธนาคารของรัสเซียหันมาใช้บริการมากขึ้น และมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ จากการที่ประชาชนเร่งถอนเงินจากธนาคารออกจากระบบการเงินเนื่องจากหวั่นเกรงถึงความมั่นคงทางการเงินในประเทศ

People walk past a currency exchange office screen displaying the exchange rates of US dollars and Euro to Russian rubles in Moscow, Feb. 28, 2022.
People walk past a currency exchange office screen displaying the exchange rates of US dollars and Euro to Russian rubles in Moscow, Feb. 28, 2022.

ในส่วนของเตชิตนั้น เขาได้ลงทุนในตลาดสกุลเงินคริปโตบ้างมาตั้งแต่แรกแล้ว หลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ การทำธุรกรรมทางสกุลเงินคริปโตจึงกลายมาเป็นทางออกหนึ่งสำหรับเขา เนื่องจากยังไม่มีการปิดกั้นบุคคลทั่วไปที่ไม่ตกเป็นเป้าของมาตรการลงโทษในการฝาก-โอนสกุลเงินดิจิทัลนี้

คนไทยที่ทำงานในรัสเซียเป็นอีกกลุ่มที่ไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ โดยเตชิต ซึ่งติดตามสถานการณ์ของชุมชนไทยในรัสเซีย ระบุว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจะเป็นพนักงานนวดและคนครัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับค่าจ้างเป็นเงินดอลลาร์ได้อีกต่อไป และต้องรับค่าจ้างเป็นเงินรูเบิลของรัสเซีย ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตค่าเงินอ่อนอย่างหนัก โดยอ่อนค่าไปเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เตชิดกล่าวต่อว่า ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงอย่างมากนี้เอง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ประสบปัญหาในการส่งเงินกลับไปยังไทย และบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับไทย หรือนายจ้างบางส่วนปรับตัวด้วยการปรับเงินเดือนขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างชาวไทยอยู่ทำงานต่อ

มุมมองหลากหลายในรัสเซียต่อสถานการณ์ยูเครน

“จริงๆ ก็ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า ท่าน (ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน) จะใช้ถึงขั้นนั้นเลย แม้แต่คนในมหาวิทยาลัยผมก็ไม่ได้คาดคิดว่า จะมีการตัดสินใจเข้าไปถึงขั้นนั้น เราเคยมองแค่ว่า เขาเข้าไปในเขตดอนบาสก็สามารถต่อรองเจรจาได้แล้ว แต่ผมมองว่า ท่าน (ปธน. ปูติน) มองว่า ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว (รัสเซีย) ก็ถูกมาตรการลงโทษอยู่ดี”

เตชิตเล่าให้ฟังถึงความเห็นของเพื่อนในมหาวิทยาลัย MGIMO ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เขาศึกษาอยู่ และเขายอมรับว่า เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ “ทุกคนยิ้มหมด เราคุยกันบ่อยมาก แต่ก็ค่อนข้างยากในการถกเถียง เพราะแต่ละคนก็มีจุดยืนเป็นของตนเอง”

“ถ้าพูดในส่วนของมหาวิทยาลัยและคนรอบตัว ต้องยอมรับว่าเพื่อนชาวต่างชาติที่มาเรียนที่รัสเซีย โดยเฉพาะชาวยุโรป ค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน ในเรื่องของสถานการณ์ที่ออกมาในสื่อ ในมุมมองที่อาจมองรัสเซียในภาพลบ แต่ก็มีส่วนของคนที่สนับสนุนรัสเซีย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเข้าใจมุมมองหรือที่มาที่ไปว่า เหตุใด ปธน. ปูตินจึงตัดสินใจลงไปแบบนั้น”

Demonstrators shout slogans in St. Petersburg, Russia, Friday, Feb. 25, 2022. Shocked Russians turned out by the thousands Thursday to decry their country's invasion of Ukraine as emotional calls for protests grew on social media. Some 1,745 people in 54 Russian cities were detained, at least 957 of them in Moscow. (AP Photo/Dmitri Lovetsky)
Demonstrators shout slogans in St. Petersburg, Russia, Friday, Feb. 25, 2022. Shocked Russians turned out by the thousands Thursday to decry their country's invasion of Ukraine as emotional calls for protests grew on social media. Some 1,745 people in 54 Russian cities were detained, at least 957 of them in Moscow. (AP Photo/Dmitri Lovetsky)

ในขณะที่ในฝั่งของผู้ที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้นำรัสเซียในการบุกรุกยูเครนโดยให้น้ำหนักในเรื่องของแรงกดดันที่ผ่านมาที่รัสเซียได้รับจากตะวันตก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งในกรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ก็มีการประท้วงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการทำสงครามครั้งนี้ แม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย MGIMO ที่เขาศึกษาอยู่ จะไม่พบเห็นการประท้วงมากนักก็ตาม

“ถ้าเรามองย้อนกลับไป จะเห็นว่าเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและกรุงมอสโก มีหลายส่วนที่ไม่ได้ลงคะแนนให้ ปธน. ปูตินในการเลือกตั้ง ดังนั้น ทั้งความไม่พอใจต่อ ปธน. ปูตินที่มีอยู่แล้ว บวกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงยิ่งเร่งการชุมนุมขึ้น” เตชิตอธิบาย

“ต้องเข้าใจว่าตำรวจหรือผู้ดูแลกฎหมายของรัสเซียค่อนข้างตรง และมีการใช้กำลังอย่างโผงผาง ถ้าเตือนครั้งที่หนึ่งแล้วยังทำ ก็มีการใช้กำลัง…ถ้าเรามองไปให้ลึกถึงลักษณะของคนรัสเซีย เขาค่อนข้างสู้ในจุดยืนของเขา ตำรวจก็ถูกวางคำสั่งมาเพื่อให้ทำแบบนี้ ก็คล้ายๆ กับกรณีของไทย”

ข้อมูลจากโครงการสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน OVD-Info เมื่อวันอาทิตย์ ระบุว่า ตำรวจรัสเซียควบคุมตัวผู้ประท้วง 745 คนจาก 37 เมืองทั่วประเทศ โดยมีอย่างน้อย 353 คนถูกควบคุมตัวที่กรุงมอสโก

นอกจากนี้แล้ว ท่ามกลางสงครามจริงในยูเครน ก็ยังมีสงครามข้อมูลข่าวสารที่ทั้งฝั่งรัสเซียและฝั่งประเทศตะวันตกต่างปิดพื้นที่และการเข้าถึงข่าวสารบางส่วนของกันและกัน เช่น ทางการรัสเซียปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจากในประเทศ ในขณะที่ยูทูปก็ปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้ทั่วโลกเข้าถึงช่องยูทูปของสื่อทางการรัสเซียได้

The app of Facebook showing U.S. President Joe Biden speaking, is viewed on an smartphone in Moscow, Russia, Friday, Feb. 25, 2022. Russia announces 'partial restriction' of access to Facebook over platform's restrictions on Kremlin-backed media. (AP Photo)
The app of Facebook showing U.S. President Joe Biden speaking, is viewed on an smartphone in Moscow, Russia, Friday, Feb. 25, 2022. Russia announces 'partial restriction' of access to Facebook over platform's restrictions on Kremlin-backed media. (AP Photo)

ผู้อาศัยในรัสเซียอย่างเตชิต เลือกใช้ VPN ในการเข้าถึงข้อมูลของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงการใช้สังคมออนไลน์ที่ยังไม่ถูกปิดกั้นเช่น เทเลแกรม และการติดตามข่าวทางการจากรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายเพื่อชั่งน้ำหนัก

“อคติเองมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะฝั่งตะวันตกหรือรัสเซีย แต่ทีนี้สิ่งที่เราเห็นได้ชัด ด้วยความที่เราอยู่ในรัสเซีย เราสามารถพูดคุยได้ว่าข่าวสารที่เกิดขึ้นมันเป็นจริงอย่างที่ว่าหรือไม่ ตอนนี้ข่าวสารไปเร็วมาก ผมเป็นห่วงเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วงแรกมาก ช่วงแรกมีการแชร์เร็วมากจนไม่ได้มีการไตร่ตรองก่อนแชร์ บางคนก็รู้ความจริงภายหลัง บางคนก็ไม่รู้”

“ผมว่าสิ่งที่มันแย่กว่าสงคราม คือการเข้าใจผิดจากทั้งสองฝ่าย และเกิด hate speech เกิดความเกลียดชังต่อทั้งรัสเซียและยูเครน ทั้งที่ภาคประชาชนรักกันมาก” เตชิตกล่าว

มอง “อำนาจอ่อน” (soft power) ของรัสเซีย ยังไปต่อได้ ไทยไม่ควรไปยุ่งจะดีที่สุด

แม้เหตุการณ์ที่รัสเซียบุกรุกยูเครนจะทำให้เกิดปฏิกิริยา “คว่ำบาตร” รัสเซียจากหลากหลายวงการ รวมไปถึงภาคธุรกิจและวงการกีฬา และทำให้รัสเซียมีภาพลักษณ์เป็นลบในสายตาของหลายประเทศ แต่เตชิตกลับมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งอยากทำให้ผู้คนต้องการเข้าใจการเมืองและบริบทของรัสเซียมากขึ้น และน่าจะมีส่วนในการทำให้มีผู้ตัดสินใจมาศึกษาต่อที่รัสเซียเช่นเดียวกับตน

“ตอนที่เลือกมารัสเซียในตอนนั้น เพราะผมอยากทำงานด้านการทูต แล้วภาษารัสเซียก็เป็นหนึ่งในภาษาหลักของสหประชาชาติ ก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับตนเอง แต่ soft power ของรัสเซียที่ดึงให้ผมมาที่นี่ ไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่เราค่อนข้างชอบ และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ”

เตชิต ผู้เริ่มศึกษาในรัสเซียตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมและศึกษาในรัสเซียมาแล้ว 5-6 ปี กล่าว พร้อมระบุว่า เขาไม่ได้เลือกเรียนที่รัสเซียเพราะสนับสนุนรัสเซีย แต่เพราะเห็นว่าไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกที่เกี่ยวกับรัสเซีย

Techit Nitnara (second from left) a Thai graduate student in Moscow, Russia
Techit Nitnara (second from left) a Thai graduate student in Moscow, Russia

ในมุมมองของเตชิต ที่มีความคาดหวังว่าอยากทำงานเป็นนักการทูตไทยในอนาคต เขามองว่า สำหรับจุดยืนของประเทศไทยนั้น การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย จะเป็นการดีที่สุด เนื่องจากไทยมักดำเนินการทูตโดยคานอำนาจจากทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งจีน-รัสเซีย

“ในส่วนของไทยที่มีการส่งออกทรัพยากรมนุษย์ไปทำงาน รวมถึงส่งออกสินค้า ผมมองว่า ยังจะเป็นประโยชน์กับเราอยู่ดีด้วยการไม่เลือกข้าง และไม่แตะการเมืองภายในจะดีกว่า”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2564 รัสเซียเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 30 ของไทย และข้อมูลจากสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย ระบุว่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียที่ในปี 2564 มีการค้าร่วมกัน 2,779 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปรัสเซีย 1,027 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกมากที่สุด คือ รถยนต์และอุปกรณ์ รองลงมาเป็นยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

สำหรับจุดยืนที่ไทยมีต่อสถานการณ์ในยูเครนนั้น ไทยเป็นหนึ่งใน 141 ประเทศที่ร่วมลงมติประณามรัสเซียบุกรุกยูเครน ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งประชาชาติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม

ในขณะที่แถลงการณ์ไทยต่อสถานการณ์ในยูเครนที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ระบุเพียงว่า “ไทยได้ติดตามพัฒนาการในยูเครน โดยเฉพาะการทวีความตึงเครียดในยุโรป ด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง เราสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อแสวงหาการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ”

  • รายงานโดย ผู้สื่อข่าววีโอเอไทย วรรษมน อุจจรินทร์
XS
SM
MD
LG