ที่ Peterson Automotive Museum ณ นครลอสแองเจลิส เหล่าแฟชั่นนิสต้า รวมถึง โซเชียล มีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ และนักข่าวหลายสิบคน จับจองเก้าอี้ทุกตัวข้างแคทวอล์คจนไม่เหลือที่ว่าง เพื่อรอชมแฟชั่นจากดีไซเนอร์หน้าใหม่
..ไม่นานนักนายแบบในเครื่องแต่งกายสะดุดตาก็ทยอยตบเท้าเดินออกมา มีทั้งสวมแจ็คเก๊ตลายผ้าขาวม้าคุ้นตา บางคนสวมหมวกคนตัดอ้อย บ้างก็ถือกระเป๋าที่ทำจากถุงปูนใช้แล้ว และบางคนก็สวมยีนส์ที่ตัดแปะด้วยผ้าใบที่ใช้ในงานก่อสร้าง..
นี่คือคอลเล็คชั่น ล่าสุดที่ ทรงวุฒิ ทองทั่ว หรือ ‘โย’ เจ้าของและดีไซเนอร์ Renim Project ผู้ที่นำยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสอง ขยะที่คนไม่เห็นค่า ผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ จนมาเดินท้าสายตากลางรันเวย์ในสัปดาห์แฟชั่นลอส แองเจลิส (LA Fashion Week 2019) งานสัปดาห์แฟชั่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยในปีนี้ Renim Project เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทย จากดีไซเนอร์ทั้งหมด 4 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงแฟชั่น
“มา LA Fashion Week ครั้งนี้ ก็เป็นคอลเลคชั่นสปริงซัมเมอร์ 2020 มีแรงบันดาลใจมาจากคนงานก่อสร้างของคนไทย เราเอาความเป็นไทยรวมกับความเป็นสตรีทแวร์… ” ทรงวุฒิ เล่าถึงที่มาและแนวคิดการออกแบบที่นำมาจัดแสดงในงาน LA Fashion Week
เมื่อศิลปะคือเครื่องนำทาง
ทรงวุฒิ เริ่มต้นที่ชอบวาดรูปมาตั้งแต่วัยเด็ก ก่อนจะเข้าศึกษาที่ ภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเรียนการสร้างรูปแบบ (แพทเทิร์น) และตัดเย็บเพิ่มเติมที่สมาคมฝรั่งเศสอาลิยองซ์
หลังจบปริญญาตรี 'โย' เคยทำหน้าที่สไตลิสต์ในแวดวงโฆษณาพร้อมกับเรียนปริญญาโททางด้านแฟชั่นควบคู่ไปด้วย ระหว่างนี้เขาได้ส่งผลงานการออกแบบไปประกวดทั้งในประเทศและต่างประเทศจนผลงานเข้าตาบริษัทแฟชั่นเกรย์ฮาวด์ (Greyhound) จึงได้รับการทาบทามให้มาร่วมงานในตำแหน่งดีไซเนอร์ ประสบการณ์ตรงนี้เองทำให้คุณโยเรียนรู้ว่า การหาจุดสมดุลของศิลปะและธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยการเปิดร้านขายเสื้อยืดที่ตลาดนัดจตุจักรมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี
“เมื่อเข้าไปอยู่ในธุรกิจแฟชั่นแล้วจริงๆ ก็จะเห็นมุมมองที่โตขึ้นและหลากหลายขึ้น ว่าสิ่งที่เราทำระหว่างความสร้างสรรค์...กับธุรกิจมันต้องพอดีกัน” ดีไซเนอร์ชาวไทย เล่าถึงเส้นทางสายนักออกแบบที่ผ่านมา
หยิบสิ่งที่ถูกมองข้าม ขยายให้ ‘ล้น’
ในด้านแรงบันดาลใจ คุณโย บอก วีโอเอ ไทย ว่า งานศิลปะที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบของเขามากที่สุดคือ แนวคิด “Kitsch & Camp” หรือการหยิบเอาสิ่งที่ “คนมองข้าม” มาขยายให้เกิด “ความล้น” ในด้านความรู้สึก ตัวอย่างเช่น ผลงานของเจ้าพ่อศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) อย่าง เจฟ คูนส์ (Jeff Koons) หรือแม้แต่แบรนด์เสื้อผ้ายอดนิยมอย่าง กอมเดการ์ซง (Comme des Garçons) ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้เช่นกัน
“เหมือนกับเราเอางานศิลปะประเภทหนึ่งที่คนมองข้ามไป เอามาทำเกี่ยวกับเสื้อผ้า มันก็จะกึ่งๆแบบของเหลือใช้นิดหนึ่งอยู่แล้วตอนนั้น เราก็ทำงานวิธีนี้มาเรื่อยๆ”
ทรงวุฒิ บอกว่าความสวยงามสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อผสานแนวคิด “Kitsch & Camp” กับสิ่งรอบตัวที่หลายคนมองข้ามในประเทศไทย ศิลปะสไตล์ Renim Project จึงเกิดขึ้น
“ผมชอบสิ่งอะไรที่อยู่รอบตัว เมืองไทยผมชอบมากอยู่แล้วในกรุงเทพฯ ได้เห็นอะไรที่มันผิดๆ ถ้ามาอเมริกาจะไม่เห็นอะไรแบบนี้เลย เช่นมีเก้าอี้ผูกกับรถเข็น...สายเคเบิ้ลที่ยุ่งเหยิงมาก แต่ผมมองเป็นสิ่งที่สวยงาม...สติ๊กเก้อร์เต็มรถเข็นไปหมด...ถ้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในอเมริกามันคงจะ ว้าว!.. ”
เผยที่มาของ เรนิม โปรเจ็ค (Renim Project)
เรนิม โปรเจ็ค Renim Project เดิมมาจากคำว่า Denim ที่แปลว่ายีนส์ ก่อนจะพัฒนาให้มีความยั่งยืนกับธรรมชาติมากขึ้น (sustainable) จึงปรับมาใช้คำว่า 'Renim' และต่อท้ายด้วยคำว่า Project เพราะอยากให้ทุกคอลเลคชั่นที่สร้างสรรค์มีความแปลกใหม่ ตื่นเต้นอยู่เสมอ คุณโยอธิบายแนวคิดเบื้องหลังแบรนด์ มาจากคำว่า Remade Reduce และ Redesign
“เราควรจะทำแบรนด์อะไรบางอย่างเพื่อให้คนเห็นคุณค่ากับมันว่า เราควรจะเสพย์แฟชั่นให้มันน้อยลงหรือช้าลง ไม่ต้องควรจะรีบเปลี่ยนโดยเร็ว...อยากให้คนใช้ของ Renim Project เห็นคุณค่าว่าเอาของเก่ามาทำใหม่”
แม้การผลิตด้วยวัสดุเหลือใช้กับวัสดุใหม่จากโรงงาน ต้นทุนอาจจะไม่ต่างกันมาก แต่การใช้วัสดุเป็นของมือสอง ต้องใช้เวลาที่มากกว่า มีความยากลำบากในการหาแหล่งวัสดุ และใช้เทคนิคการตัดเย็บที่ซับซ้อน
กระแสแฟชั่นแนวใหม่ ไม่ยึดติดแบรนด์
ในอดีตธุรกิจแฟชั่นมีเพียงไม่กี่คอลเลคชั่นต่อปี แต่จากกระแส Fast fashion หรือการนำเสนอเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่อย่างต่อเนื่องโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังการผลิตทั่วโลก เน้นการขายปริมาณมาก ราคาถูก มีแบบใหม่ๆตลอดทั้งปี ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ H&M Topshop และ Zara คุณโยมองว่า Fast fashion ได้สร้างมลพิษและขยะเป็นจำนวนมาก เพราะจะเลือกใช้ฐานผลิตต้นทุนต่ำในประเทศที่มีการควบคุมทางกฎหมายไม่เข้มงวดเช่น ประเทศจีน ประเทศบังคลาเทศ เป็นต้น ซึ่งมักจะไม่ใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“คนที่ใช้โรงงานพวกนี้มันผิดกฎหมาย การที่เขาควบคุมมลพิษของโรงงานเช่นการทิ้งน้ำเสียลงในชุมชน เขาก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจ...มันก็คือการที่แบรนด์ Fast fashion สร้างมลพิษให้กับโลกแล้ว”
ทุกวันนี้การแข่งขันในตลาดแฟชั่นได้เปลี่ยนไปมาก ทรงวุฒิ เชื่อว่าลูกค้าไม่ได้ยึดติดในแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเหมือนในอดีต ทางออกคือธุรกิจต้องสร้างสินค้าที่ทำให้โลกของเราดีขึ้น จึงจะซื้อใจลูกค้าได้
“ธุรกิจนี้คนเข้าได้ง่ายมากเลย แต่คนที่จะอยู่ได้นาน จะต้องมีความหลงใหล ทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเองมาก แต่ผมคิดว่าในอนาคตแต่ละแบรนด์ที่จะเกิดขึ้นมาจะต้องทำให้โลกของเราดีขึ้นด้วย เพราะคนมันไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์แล้ว”
แนะคนรุ่นใหม่ 'หาสิ่งที่ชอบ' และ 'กล้าลงมือทำ'
ปัจจุบัน Renim Project เป็นแบรนด์ที่มีอายุประมาณหนึ่งปี มีทั้งสิ้น 3 คอลเลคชั่น ก้าวต่อไปคือเข้าสู่โลกธุรกิจและเปิดตลาดในต่างประเทศให้สำเร็จ สำหรับคำแนะนำที่ ดีไซเนอร์ เจ้าของแนวคิดแหวกแนว ที่มีให้กับคนรุ่นใหม่ก็คือพยายามหาสิ่งที่ชอบและกล้าที่จะลงมือทำ
“พยายามค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ...ความเป็นตัวตนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน แสดงว่าความชอบคือเอกลักษณ์ของคุณ...คิดออกนอกกรอบบ้าง และลองกล้าทำสิ่งใหม่ดู”
แม้สิ่งแวดล้อมจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่คุณโยในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์เห็นว่า โลกของเราเกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมมากมาย สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะกลับมาทำร้ายเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการหยุดคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงธรรมชาติให้มากขึ้นเป็นเรื่องที่จำเป็นในวันนี้