ศาลไทยเริ่มเปิดการพิจารณาคำร้องปล่อยตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ 43 คนที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ท่ามกลางความกังวลขององค์กรสิทธิมนุษยชนว่าพวกเขาอาจถูกส่งตัวกลับประเทศจีนเพื่อเผชิญการลงโทษ
องค์กรสิทธิมนุษยชน จัสติส ฟอร์ ออล (Justice for All) เปิดเผยเมื่อต้นเดือนที่แล้วว่า ชาวอุยกูร์เหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่ไทยบังคับให้กรอกแบบฟอร์มเพื่อเตรียมถูกส่งตัวกลับไปจีน แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าไม่มีการกระทำดังกล่าว
เมื่อวันที่ 29 มกราคม ทนายชูชาติ กันภัย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 43 คน โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวไว้นานเพียงพอแล้วจากข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย และต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่อันย่ำแย่จากศูนย์กักกันคนเข้าเมืองของไทยนานกว่า 11 ปี โดยก่อนหน้านี้ก็มิได้ก่อความผิดอาญาใด ๆ ในประเทศจีน
องค์กรสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติ กล่าวหาว่า จีนละเมิดสิทธิ์ของชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง รวมทั้งการจับกุมคุมขังไว้ในค่ายกักกันขนาดใหญ่ แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
รายงานของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย ระบุว่า ขณะนี้มีชาวอุยกูร์ 43 คนที่ถูกกักตัวไว้ที่สถานีกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และมีอีก 5 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำซึ่งไม่ถูกรวมอยู่ในคำร้องล่าสุดนี้
ชาวอุยกูร์เหล่านี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไทยตั้งเเต่ปี 2014 หรือราว 11 ปีก่อน หลังจากหนีออกจากมณฑลซินเจียง โดยชายชาวอุยกูร์ 48 คนนี้ถูกจับร่วมกับเพื่อนร่วมชาติพันธุ์กว่า 300 คนที่พยายามข้ามชายเเดนไปยังมาเลเซีย ตามเส้นทางค้ามนุษย์จากมณฑลยูนนานของจีน
ในปี 2015 ชาวอุยกูร์ 109 คนในกลุ่มนี้ถูกเนรเทศกลับไปยังจีน และนานาชาติเเสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งพร้อมกับวิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างหนัก ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของคนเหล่านั้น ส่วนอีก 173 คนที่เป็นผู้หญิงได้รับการส่งตัวไปยังตุรกี
ในช่วงเวลากว่า 10 ปีนี้ มีชาวอุยกูร์ผู้ถูกควบุคมตัวไว้เสียชีวิต 5 คน รวมถึงเด็ก 2 คน
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ กล่าวถึงสุขภาพของชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวในไทยว่า 23 คนจากทั้งหมด 48 คนป่วยด้วยโรค เบาหวาน ไตทำงานผิดปกติ อัมพฤต โรคผิวหนัง รวมทั้งปัญหาการทำงานของหัวใจ ปอดและระบบทางเดินอาหาร
คำร้องล่าสุดนี้ขอให้มีการตรวจสอบตามประมวลกฎหมายอาญาว่าสมควรปล่อยตัวชาวอุยกูร์ 43 คนนี้หรือไม่ ซึ่งทางทนายจำเริญ พนมภคากร ผู้เป็นตัวแทนยื่นคำร้อง กล่าวว่า หากศาลพิจารณาแล้วว่าคำร้องนี้มีมูลเหตุถูกต้อง ก็อาจมีคำสั่งให้มีการสืบสวนและขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ปากคำเพิ่มเติม และหากพบว่าการกักตัวนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็อาจนำไปสู่การปล่อยตัวชาวอุยกูร์เหล่านั้น
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นวันที่ 18 ก.พ. นี้
- ที่มา: เรดิโอ ฟรี เอเชีย (อาร์เอฟเอ)
กระดานความเห็น