กรุงเทพมหานครและเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ในประเทศไทยนับถอนหลังการเปิดประตูต้อนรับชาวต่างชาติให้กลับมาเยือนอีกครั้งตามแผนการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
ผู้ประกอบการขนาดเล็กถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโคโรนาไวรัส บางคนต้องพลันตัวไปประกอบอาชีพเพื่อให้อยู่รอด บ้างก็ต้องปรับโมเดลการทำธุรกิจ วีโอเอ ได้สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจรายย่อยถึงความเปลี่ยนแปลงที่พวกต้องตั้งรับ พร้อมทั้งแบ่งปันมุมมองของพวกเขากับการเปิดกรุงเทพมหานคร
ในช่วงปี 2562 โคโรนาไวรัสระบาดหนักทั่วทุกมุมโลก ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งสายการบินจึงเป็นจำต้องลดพนักงานออกเพื่อประคองให้บริษัทอยู่รอด อรจิรา เจนการศึกเป็นหนึ่งในพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินตะวันออกกลาง ที่ต้องเก็บกระเป๋ากลับประเทศไทยเพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่เพราะโควิด-19
“ตอนแรกที่กลับมาเลยเราก็กักตัว ASQ อยู่ที่ไทย ก็เสียความมั่นใจไปพักนึง แบบมันจะเกิดอะไรขึ้นแบบนี้อีกนานไหม...เราก็เลยเริ่มวางแพลน A แพลน B แพลน C เราก็คิดว่า เราน่าจะทำเสื้อผ้า เพราะมีคนทักมาหาเราเยอะเวลาเราลงรูปใน [อินสตาแกรม] มีคนถามว่าใส่เสื้อแบรนด์อะไรอยู่ เราก็เลยมาทำด้านเสื้อผ้าดีกว่า”
เรื่องราวการเปลี่ยนอาชีพของอรจิราเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวของผู้คนมากมายตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19
หลังจากที่จำนวนผู้ติดโควิด-19 ในหลายพื้นที่เริ่มลดลง รัฐบาลได้ทยอยอนุญาตให้มีการเดินทางไปมาหาสู่ข้ามจังหวัดเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อัญชลี ตันยะกุล เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าในตลาดนัดหน้า the Street ในย่านรัชดาและจตุจักรบอกกับวีโอเอว่าลูกค้าหลักของเธอเป็นชาวต่างชาติ การที่กรุงเทพมหานครได้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซั่นจึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
“ตื่นเต้นมาก เพราะด้วยสินค้าเรา ต่างชาติเค้าจะต้องการของเราอยู่แล้ว เพราะมันเป็นงานของคนไทยทำ พี่รู้ว่าต่างชาติชอบอะไร พี่อยู่ตลาดแบบนี้มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว”
อัญชลีซึ่งแต่ก่อนขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดจตุจักรเพียงเดียวสามารถประคองธุรกิจให้พ้นวิกฤตมาได้ด้วยการขยายไปเปิดร้านที่ตลาดนัดในย่านรัชดาขายเพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขายผ่านช่องทางออนไลน์ของเธอยังไปได้ดีอีกด้วย
“มีเพจ มีเฟสบุ๊ค ที่ดีที่สุดเลยของพี่คือการไลฟ์สดไปสิงคโปร์ โปรดักส์พี่เค้าชอบ ก็มีบริษัทที่นั่นเอาของไปไลฟ์หรือไม่ก็คนไทยที่นั่นเอาไปไลฟ์ซึ่งมันจะเป็นทางออกของเรา”
แต่ช่องทางออนไลน์อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการทุกราย โดยเฉพาะร้านขายอาหารปิ้งรสชาติเผ็ดร้อนสไตล์จีนอย่าง ร้านหมาล่าน้าอ้อ ของดุษฎี เสือเจริญ ที่อยู่ตรงตลาดนัดในย่านรัชดาซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะยืนเลือกซื้อของที่หน้าร้านและรอทานอาหารที่ลงมาจากเตาถ่านร้อน ๆ
ดุษฎีกล่าวว่าเขารู้สึกพอใจกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะต้อนรับชาวต่างชาติเข้ากรุงเทพอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นความเสี่ยงที่จำเป็นต้องรับ
“ผมก็ว่าดีนะ มันต้องลอง ต้องเสี่ยงหมดแล้วหละชั่วโมงนี้ แบบว่าก็ต้องอยู่กับมัน ถ้าไม่อยู่กับมันจะอยู่บ้านมันก็ไม่ได้อีก มันก็ต้องออกมา ผมคิดว่าถ้าเราจะเป็นมันก็ต้องเป็นแล้วแหละ”
ส่วนทางภาคธุรกิจโรงแรม สมเกียรติ รุ่งเรืองไพฑูรย์ เจ้าของบูทีคโฮเทล Siamese Studio ย่านพระรามเก้าซึ่งเป็นโรงแรมขนาดเล็กประมาณ 10 ห้อง บอกถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นว่า
“เราคิดว่ามันยังไม่ทำให้รายได้ของเราจะเพิ่มขึ้นจากจุดนี้เท่าไหร่ เพราะว่าตัวนักท่องเที่ยว ผมเชื่อว่ามาแล้วก็คงจะไปจุดต่างๆก่อน กับ chain เล็ก ๆ ของเรา น่าจะเป็นอันดับสุดท้าย ก็ดีต่อประเทศในส่วนรวมแล้วกัน แต่สำหรับธุรกิจเราตรงนี้คิดว่าเรายังไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับมันมากนักนะครับ”
แต่คนที่รู้สึกตื่นเต้นคืออดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอย่างอรจิราที่ได้รับการติดต่อให้กลับไปทำงานกับการสายบินอีกครั้งเพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ธุรกิจของเธอที่ตอนแรกเน้นขายผ่านอินสตราแกรมนั้นยังได้รับการติดต่อให้เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าถึงสองแห่ง การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ได้เปิดโอกาสที่ดีที่ทำให้เธอมีรายได้ถึงสองทาง
“จริง ๆ เราสามารถปรับโมเดลธุรกิจได้เลยค่ะ เพราะว่าเรามีหน้าร้านที่มีคนมาช่วยดูแลเราอยู่แล้ว ทั้งสองสาขาเลย เราก็อาจจะมีการจ้างคนให้ขายของของเราทางออนไลน์อีกที เพราะตอนเราเป็นแอร์ เราไม่สามารถมาตอบไลน์ลูกค้าตลอดได้...ก็เป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้ากับ New Nornmal ไปเลยค่ะ”
สำหรับวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลได้ประกาศว่าประเทศไทยจะทำการเปิด 17 จังหวัดเพิ่มเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในจำนวนนั้นก็จะรวมถึงกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ เช่น พัทยา หัวหิน ชะอำ
นักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ รวมถึงสหรัฐฯ ก็ไม่จำเป็นกักตัวเมื่อมาเยือนประเทศอีกต่อไปด้วย