ปัจจุบัน การเล่นบอร์ดเกม ซึ่งเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกเกมที่ต้องใช้ชิ้นส่วนหรือตัวหมากเคลื่อนที่ไปบนแผ่นกระดาน หรือเกมการ์ด กำลังเป็นที่นิยมในผู้เล่นทุกเพศทุกวัย รวมถึงในประเทศไทย นอกจากความสนุกของเกม การได้ใช้เวลาร่วมกันกับผู้เล่นคนอื่นแล้ว สิ่งที่น่าดึงดูดใจอีกประการหนึ่งคืองานศิลปะของบอร์ดเกม ทั้งบนกล่องและในกล่อง วีโอเอไทย พาไปรู้จักกับนักวาดภาพบอร์ดเกมลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ขวัญชัย โมริยะ ผู้รังสรรค์ศิลปะให้กับบอร์ดเกมอย่าง Dinosaur Island, Cryptid และ Catacombs
ความโดดเด่นของสตูดิโอในบ้านหลังเล็กของคุณ ขวัญชัย โมริยะ (Kwanchai Moriya) ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น วัย 36 ปี บริเวณชานเมือง Los Angeles รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่อุปกรณ์วาดรูปทันสมัย แต่คือชั้นวางที่อัดแน่นไปด้วยบอร์ดเกมขนาดเล็กและใหญ่ หลากหลายชนิด จากพื้นจรดเพดาน
ความหลงใหลในบอร์ดเกม ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณขวัญชัย เปลี่ยนเส้นทางชีวิต จากทีตั้งใจว่าจะเป็นครูสอนเด็กมัธยม สู่การเป็นนักวาดภาพประกอบบอร์ดเกม หรือ board game illustrator เต็มตัว ถึงแม้จะเป็นวิชาชีพที่ยังค่อนข้างใหม่และมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
คุณขวัญชัย บอกกับวีโอเอไทยว่า การสัมผัสจับต้องได้ และความสวยงามของบอร์ดเกม การได้เคลื่อนไหวชิ้นส่วนที่ทำมาจากไม้ จากกระดาษ และภาพวาดประกอบที่สวยงาม เป็นสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลในบอร์ดเกม
เส้นทางสู่การเป็นนักวาดภาพประกอบบอร์ดเกม
จากคนเล่นบอร์ดเกมทั่วไปคนหนึ่ง ด้วยความนึกสนุก วันหนึ่งคุณขวัญชัยจึงวาดภาพประกอบสำหรับบอร์ดเกมที่หยุดผลิตไปแล้ว และนำรูปวาดเหล่านั้นไปเผยแพร่ในเวปไซต์ที่ชื่อ Board Game Geek ซึ่งเป็นเวปชุมชนสำหรับคนรักบอร์ดเกม และได้ผลตอบรับดีเกินคาด
คุณขวัญชัยบอกว่า มีช่วงหนึ่งที่งานวาดภาพประกอบบอร์ดเกมของเขาในเว็บไซต์ Board Game Geek ได้รับการดาวน์โหลดไปมากที่สุด ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเขาเองไม่ได้เรียนศิลปะ หรือมีประสบการณ์สร้างงานศิลปะจริงจังมาก่อน
เพื่อนของคุณขวัญชัยซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะมองเห็นฝีมือของเขา จึงได้แนะนำให้คุณขวัญชัยศึกษาเพิ่มเติมอย่างจริงจัง เขาจึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปะ แต่ว่าคุณขวัญชัยกลับไม่ประสบความสำเร็จในการหางานทำหลังจากเรียนจบ เขามองว่า ลักษณะงานของเขาไม่ตรงกับความต้องการของสตูดิโอแอนิเมชั่นขนาดใหญ่ในฮอลลีวู้ด อย่าง Pixar, Disney, หรือ Marvel ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นที่ทำงานในฝันของนักเรียนที่จบจากโรงเรียนศิลปะหลายคน
ในตอนนั้น เขาไม่ได้คาดคิดเลยว่า งานอดิเรกที่ทำเพียงเพราะความรัก อย่างการวาดรูปประกอบบอร์ดเกมลงเวปไซต์ Board Game Geek จะกลายมาเป็นงานประจำ เพราะวันหนึ่งเขาได้รับการติดต่อจากคนที่เห็นงานของเขาใน boardgamegeek.com ให้วาดรูปประกอบบอร์ดเกมแรกที่ชื่อว่า Heroes of the Gap แลกกับค่าตอบแทนเพียง 500 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 15,000 บาท
กว่าจะเป็นบอร์ดเกม
แม้การเล่นบอร์ดเกมจะใช้เวลาสั้นๆเพียง 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ขั้นตอนการสร้างใช้เวลานานหลายเดือน หนึ่งในกระบวนการที่มีความละเอียดพิถีพิถันคือการวาดภาพประกอบ
คุณขวัญชัยเล่าให้ฟังว่า โดยทั่วไปกระบวนการสร้างบอร์ดเกมเริ่มต้นจากนักออกแบบเกมที่คิดค้นและตั้งกฎกติกา ก่อนสร้างเกมจำลองไปเสนอ Publisher หรือบริษัทผู้ผลิต เมื่อบริษัทผู้ผลิตตกลง การติดต่อหานักวาดภาพประกอบถึงจะเริ่มขึ้น
หน้าที่ของคุณขวัญชัย คือการนำเสนอแนวคิดว่าบอร์ดเกมนั้นควรจะออกมาแบบไหน เช่น ควรจะใช้ศิลปะย้อนยุค หรือศิลปะแนววิทยาศาสตร์ไซไฟ ควรจะใช้ภาพเสมือนจริงหรือการ์ตูน เป็นต้น
สีสันของ "ขวัญชัย"
คุณขวัญชัยบอกว่า เขาชอบใช้สีสันที่ฉูดฉาดกับหน้ากล่องของบอร์ดเกม ซึ่งความฉูดฉาดและตัดกันที่ชัดเจนนี้ แทบจะเรียกว่าเป็นลายเซ็นต์งานของเขาไปแล้ว เขาเห็นว่างานบนหน้ากล่องและด้านข้างของกล่องมีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนเดียวที่ผู้เล่นหรือผู้ซื้อมองเห็น เวลาพวกเขาต้องเลือกบอร์ดเกมจากชั้นวางในร้านหรือในเกมคาเฟ่
ปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่คุณขวัญชัยวาดภาพประกอบบอร์ดเกมเป็นงานประจำ เขามักจะรับผิดชอบงานวาดประมาณ 5-7 เกมไปพร้อมๆ กัน โดยมีค่าตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 3,000 -7,000 ดอลล่าร์ต่องาน ซึ่งแต่ละงานใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน
เขามองว่าอุตสาหกรรมบอร์ดเกมยังใหม่และมีอนาคตไปได้อีกไกล ที่สำคัญยังมีน้อยคนนักที่ยึดการวาดภาพประกอบบอร์ดเกมเป็นงานประจำ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เขาคาดว่ามีเพียงประมาณ 15-20 คนเท่านั้น