ผู้ประกอบการร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคจากทวีปเอเชียหลายแห่งในแถบกรุงวอชิงตัน //รัฐแมรีแลนด์ และเวอร์จิเนีย ตัดสินใจปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละสิบถึงยี่สิบ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทยที่มีต้นทุนสูงขึ้นหลังจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คุณ Phing Chang ผู้ประกอบการร้านเอเชียนฟูดส์ เขตซิลเวอร์สปริง รัฐแมรีแลนด์ ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น เพราะสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะมาจากประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศไทยที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องวางแผนสั่งซื้อสินค้าใหม่และปรับราคา โดยเริ่มส่งผลต่อยอดขายที่ลดน้อยลง
คุณพิรุณ วรเธียรกุล ผู้ประกอบการชาวไทย ร้านบางกอก 54 รัฐเวอร์จีเนียบนถนนโคลัมเบียไพค์ แถบอาร์ลิงตัน ในรัฐเวอร์จีเนีย ซึ่งเป็นร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ บอกว่า การแข็งตัวของค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสินค้าทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการและลูกค้าที่ซื้อสินค้าจำเป็นต้องปรับตัว
ด้านคุณจันทิมา รัศมีเหลืองอ่อน ชาวไทยในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอาจจะส่งผลดีต่อชาวไทยในประเทศเพราะเท่ากับมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นหากเทียบกับค่าเงินต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศแล้ว กลับตรงกันข้ามเพราะเท่ากับค่าเงินที่จะส่งกลับเมืองไทยมีมูลค่าน้อยลง
ด้านคุณ จิราภรณ์ อาคมประสังสา ชาวไทยจากรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่าแม้จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาบ้างแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องซื้อสินค้าจากเมืองไทย โดยเฉพาะสินค้าบริโภคที่คุ้นเคยรสชาดแบบไทยๆ และหาได้ยากในต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องปรุงอาหาร เครื่องปรุงรส และอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากเมืองไทย
จากการสำรวจราคาสินค้าในแถบกรุงวอชิงตัน ล่าสุดสินค้าประเภทข้าวสารอาหารแห้ง มีราคาขายประมาณ 2-7 เหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 60-200 บาท ส่วนเครื่องปรุงรสประเภทกระปิ น้ำปลา ซอสปรุงรสราคาอยู่ที่ 1-5 เหรียญฯ หรือประมาณ 30-150 บาท ขณะที่อาหารยอดนิยมของคนไทย คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ราคาประมาณ 50 เซ็นต์ ถึง 1 เหรียญ หรือ ประมาณ 15-30 บาทต่อถุง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่ร้านอาหารไทยอาจจำเป็นต้องปรับราคาอาหารในเร็วๆนี้เพราะราคาวัตถุดิบในครัวเพิ่มสูงขึ้น