ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษ : คนไทยในสหรัฐฯกับ Black Lives Matter ความแตกต่างที่มีจุดร่วมต่อประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ


Archawee Dhamavasi (right), a 43-year-old Thai-American mother goes to a Black Lives Matter protest with her daugther, Natasha Dhamvasi (second from left), in Downers Grove village, Illinois on June 7, 2020
Archawee Dhamavasi (right), a 43-year-old Thai-American mother goes to a Black Lives Matter protest with her daugther, Natasha Dhamvasi (second from left), in Downers Grove village, Illinois on June 7, 2020

คนไทยในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มความหลากหลายในอเมริกา ที่ร่วมแสดงพลังเพื่อความเท่าเทียมกันให้กับคนแอฟริกันอเมริกัน ภายใต้การเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

หนึ่งในเสียงเรียกร้องความไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นด้วยอคติทางเชื้อชาติ มาจากครอบครัวของ ผศ. อาชวี ธรรมวาสี คุณแม่ลูกสองวัย 43 ปีที่อาศัยในรัฐอิลลินอยส์

“แต่ก่อนตอนลูกเด็กๆ เราก็จะห่อข้าวไข่เจียวไปให้ลูกกิน ตอนแรกลูกก็จะยอมเอาไปโรงเรียน แต่พอลูกเริ่มโตขึ้น ก็จะกลับมาบอกว่าขอแซนด์วิชไปโรงเรียนดีกว่า ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าทำไม พอซักพักก็รู้เพราะเพื่อนบอกว่าอาหารของเขาเหม็น ลูกก็จะขออย่างอื่นหรือซื้ออาหารกินเอง”

“[คนอื่น] จะรู้สึกว่าอาหารที่เรากิน มันไม่ดีเท่ากับของที่เขากิน เป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เท่าเทียมกับเขา”

อาชวีเล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงตัวอย่างของการที่ลูกของเธอพบเจอกับ “microaggression” หรือการแสดงออกที่ไม่ได้มีเจตนาเหยียดโดยตรงแต่ก็ทำร้ายจิตใจผู้ที่ถูกปฏิบัติได้“ไม่ว่าจะเล็กน้อยยังไง เราเจอกันทุกคน อย่างเวลาคนไทยไปสมัครงาน ใส่ชื่อในเรซูเม่ ก็ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นแบบตะวันตก ไม่ใช้ชื่อไทยเพราะกลัวคนรู้ว่าไม่ใช่คนอเมริกัน กลัวถูกเหยียดเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า สิ่งที่คนไทยอเมริกันถูกปฏิบัตินั้นรุนแรงน้อยกว่าหากเทียบกับสิ่งที่คนผิวดำพบเจอ

“ดิฉันเป็นอาจารย์สอนนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไทรทัน ลูกศิษย์ส่วนมากเป็นฮิสแปนิค หรือว่าผิวดำ บางครั้งลูกศิษย์ก็หายไปจากชั้นเรียนเพราะเขาโดนยิง”

ลูกสาวของอาชวีทั้งสองคนมีพื้นฐานคล้ายกับเธอ คือเป็นคนไทยที่เกิดและโตที่สหรัฐฯ เมื่อลูกสาวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและเข้าเรียนระดับมัธยม เริ่มอยากมีเสียงมากขึ้น ก็ชวนคุณแม่ไปร่วมชุมนุม Black Lives Matter หลายครั้งในรัฐอิลลินอยส์เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ

Natasha Dhamavasi (second from right), Archawee Dhamavasi's daughter, holds a banner during a Black Lives Matter protest in Downers Grove village, Illinois on June 7, 2020
Natasha Dhamavasi (second from right), Archawee Dhamavasi's daughter, holds a banner during a Black Lives Matter protest in Downers Grove village, Illinois on June 7, 2020

“เราสอนลูกว่า ‘เสียงของเราคือพลังของเรา’ ลูกจะได้ยินแม่พูดตลอดเวลา เขาจะได้เห็นว่า เมื่อเราเห็นการกระทำที่ผิด เราก็ต้องพูดออกมา แบบที่เด็กไปรังแกคนอื่น ถ้าเราเห็นแล้วเราไม่พูด ก็เหมือนเราไปช่วยรังแกเขาเหมือนกัน” อาชวีกล่าว


อาชวีและลูกสาวของเธอเป็นคนไทยส่วนหนึ่งที่เคลื่อนไหวในขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีองค์กรไทยในสหรัฐฯอีก 5 องค์กร ร่วมลงนามกับองค์กรเอเชียนอเมริกันอีกกว่า 300 องค์กรในจดหมายเปิดผนึกแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนผิวดำต่อกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์

นอกจากนี้ ยังมีคนไทยในสหรัฐฯ ร่วมแปล “จดหมายเพื่อชีวิตของคนดำ” (Letter for Black Lives) ซึ่งเป็นโครงการเขียนและแปลจดหมายเป็นภาษาต่างๆ เพื่อส่งสารไปยังครอบครัวของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ในสหรัฐฯ ถึงความสำคัญว่าทำไมทุกคน ทุกสีผิวจึงควรให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ชาวผิวดำถูกกดขี่ในสังคม


สำหรับอาชวี การเคลื่อนไหว Black Lives Matter เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน และเธอไม่อยากให้เด็กรุ่นต่อไปต้องมาเจอในสิ่งที่เธอเจอ

“ถึงเด็กหลายคนโตขึ้นมาอาจจะอยากกินอาหารไทย พอเขาโตขึ้นมันเปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกตอนเด็กคนนั้น ณ ตอนนั้น [ที่อาหารไทยของเขาเคยถูกรังเกียจ] มันก็รู้สึกไปแล้ว”

ชอบในวัฒนธรรมของเชื้อชาติหนึ่ง ไม่ได้เท่ากับ ยอมรับในกลุ่มเชื้อชาตินั้น

“มันคือการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultural appropriation) อย่างหนึ่ง” รศ. ดร. ธนชัย “มาร์ค” ผดุงแพทย์ อาจารย์ภาควิชาเอเชียนอเมริกันศึกษา มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาส เวกัส กล่าว “เขาชอบอาหารไทย ไม่ได้แปลว่าเขาจะชอบผู้อพยพชาวไทย เหมือนกับที่เขาอาจชอบดนตรีของคนผิวดำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะชอบคนผิวดำ”


เขาอธิบายว่า โดยพื้นฐานของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นประเทศที่ก่อตั้งโดยอุดมการณ์คนผิวขาวเป็นใหญ่ (white supremacy) ที่ค่านิยม วัฒนธรรม และการเมืองของคนผิวขาวถูกทำให้เป็นค่านิยมหลักของสังคม และคนผิวสีอื่นๆ ต้องหาทางทำให้ตนเป็นที่ยอมรับภายใต้กรอบค่านิยมนี้ ซึ่งเป็นจุดที่เขาเห็นว่า ทั้งคนผิวดำ คนไทยอเมริกัน และคนผิวสีอื่นๆ รู้สึกถึงร่วมกัน

นอกจากนี้ อาจารย์มาร์คยังมองด้วยว่า คนผิวดำและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกามีจุดร่วมกันอีกอย่างคือ มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำงานใช้แรงงานหนัก ได้เงินเดือนน้อย

“แต่ถึงอย่างนั้น คนเอเชียก็ยังถูกเปรียบเทียบไปในทางที่ดีกว่าคนผิวดำ คนเอเชียยังถูกมองว่าเป็นผู้อพยพที่ทำตัวดี ขยันทำงาน ในขณะที่คนผิวดำถูกมองว่า ‘ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็ทำงานให้มากขึ้นสิ’ ซึ่งผมมองว่าทั้งสองเชื้อชาติต่างถูก ‘ใช้’ เพื่อเปรียบเทียบกันทั้งคู่”

An Asian-American participating in the Black Lives Matter in Washington D.C.
An Asian-American participating in the Black Lives Matter in Washington D.C.

จุดกำเนิดของคนเอเชียนอเมริกันส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการถูกนำมาเป็นทาส (ยกเว้นชาวเอเชียใต้ที่ถูกนำเข้ามาเป็นทาสช่วงคริสตศตวรรษที่ 18) หรือหากหนีการเป็นทาสได้ก็ถูกฝูงชนรุมสังหารแขวนคอเหมือนผิวดำ และหากพูดถึงกรณีของคนไทยอเมริกันนั้น ก็เพิ่งสามารถอพยพเข้าสหรัฐฯ ได้เมื่อราว 50-60 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในตัวบทกฎหมายแล้ว เช่น มีการออกกฎหมายอพยพและการถือสัญชาติ (Immigration and Nationality Act) เมื่อปี 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าเมืองตามประเทศที่มาและเชื้อชาติและทำให้ผู้อพยพมีสิทธิ์ถือสัญชาติอเมริกันและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น เข้าครอบครองที่ดิน ได้

โดยตัวกฎหมายที่ชาวเอเชียได้รับประโยชน์ด้วยนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวอเมริกันผิวดำเคลื่อนไหวพื่อยุติการแบ่งแยกทางเชื้อชาติทางกฎหมาย รวมไปถึงการจำกัดจำนวนผู้อพยพตามประเทศที่มา ซึ่งมีระบุในกฎหมายอพยพเข้าเมืองฉบับปี 2477 ที่บังคับใช้ก่อนหน้า

แม้โดยประวัติศาสตร์แล้ว ชาวไทยอเมริกันอาจไม่ได้ผ่านจุดที่ถูกเหยียดทางนโยบายอย่างเข้มข้นเหมือนที่ชาวเอเชียนอเมริกันอื่นเคยพบเจอ เช่น ชาวญี่ปุ่นอเมริกันที่ถูกกักกันตัวในค่ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ ทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายอักษะ แต่อาจารย์มาร์ค ก็เห็นว่า การเหยียดเชื้อชาติในปัจจุบันนั้น “ไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง ผมมองว่ามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

Virus Outbreak Asian Americans Protest
Virus Outbreak Asian Americans Protest

“ถึงเราจะอยู่ที่สหรัฐฯ นานเท่าไหร่ แต่เราก็ถูกปฎิบัติเหมือนเป็นคนต่างชาติ...เขาอาจไม่พูดตรงๆ ใส่หน้าคุณ ไม่ทุบตีคุณ แต่คุณสัมผัสมันได้ เช่น เขาอาจไม่ขายบ้าน ให้คุณกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ หรือรับคุณเข้าทำงาน ” เขาอธิบาย

“เคยมีวัดไทยจะจัดงานเทศกาลชุมชนไทย แล้วถูกคนที่อาศัยแถวนั้นพยายามใข้กฎหมายการจัดโซนพื้นที่ไม่ให้มีการจัดงานได้ พวกเขาไม่พูดอะไรไม่ดีเกี่ยวกับคนไทยหรอกครับ แต่เขาก็พยายามล้มงาน”

เขามองว่า ถึงสิ่งที่ชาวไทยในสหรัฐฯ พบเจออาจเป็น “microaggression” และไม่รุนแรงเหมือนการถูกตำรวจสังหารที่คนดำต้องประสบ แต่การตระหนักถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาตินั้นสำคัญ “เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนขาวอยู่สูงที่สุดในสังคม”

การเหยียดสีผิวในทุกที่= ประเด็นที่ช่วยให้คนไทยเข้าใจในประเด็นสีผิวในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

“ผมมีชื่อเล่นเป็นภาษาไทยว่า ‘หมึก’ เพราะสีผิวผมเข้มกว่าคนไทยทั่วไป” มาร์คเล่าภูมิหลังของเขา

มาร์คเกิดและเติบโตในชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส โดยเขาบอกว่า ชุมชนไทยไม่ได้ปฏิบัติกับเขาแย่เพราะสีผิวของเขา “แต่ (คนไทยที่นั่น) ก็ไม่ได้มองว่าผมหล่อเหมือนกัน”

Tanachai Mark Padoongpatt, a lecturer in Asian American studies at University of Nevada, Las Vegas
Tanachai Mark Padoongpatt, a lecturer in Asian American studies at University of Nevada, Las Vegas

การที่มาร์คมีสีผิวเข้ม ทำให้เขารู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่กับคนผิวดำและผิวสี เขาอยู่กับเพื่อนผิวดำ ซึมซับวัฒนธรรมของเพื่อนๆ ผิวดำทั้งการเล่นบาสเกตบอล การฟังเพลง “การมีสีผิวเข้มเป็นสิ่งที่ถูกเหยียดในสหรัฐฯ ผมเลยอยากอยู่กับใครที่ผมรู้สึกเข้าถึงได้ ผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมของคนดำต้อนรับผมค่อนข้างจะมากกว่า”

ในมุมมองของมาร์ค ถึงบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในไทยและสหรัฐฯ ต่อประเด็นสีผิวจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน และเป็นสิ่งที่มีทุกที่คือผิวดำถูกมองในเชิงลบ และผิวขาวถูกมองในเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมการมีผิวขาวของคนไทย ​


“การทักว่าอี๋ เธอดำนะ แกดำนะ มันเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย อาจจะอ้างว่าเป็นการล้อเล่นกันคุณค่าของผิวสีต่างๆ ในสังคมไทยก็มีความแตกต่าง ในชีวิตประจำวันของคนไทยมีการเหยียดสีผิวเยอะมาก….ทำไมคนไทยต้องทักว่าเธอคล้ำแต่สวย บอกว่าสวยก็คือสวยค่ะ ไม่ต้องมีแต่” ผศ. ดร. กัญจนา เทพบริรักษ์ อาจารย์ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลอนอยส์ กล่าว

Kanjana Thepboriruk, lecturer in Thai language and culture at Northern Illinois University
Kanjana Thepboriruk, lecturer in Thai language and culture at Northern Illinois University

อาจารย์กัญจนาอธิบายว่าพฤติกรรมการเหยียดผิวเป็นพฤติกรรมใต้สำนึกที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพราะระบบอาณานิคมในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการลดคุณค่าของอีกฝ่าย และเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้

เธอยังมองด้วยว่า การส่งสารให้คนไทยในประเทศไทยเข้าใจถึงสาระสำคัญของ Black Lives Matter แม้จะมีบริบทที่แตกต่างจากในสหรัฐฯ นั้น ไม่ยากเกินไป

“ความไม่เท่าเทียม การละเมิดสิทธิมนุษยชน มันเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดิฉันสร้างความเข้าใจให้แก่นักศึกษาภาควิชาไทยศึกษาในชั้นเรียนเช่นกัน” อาจารย์ด้านไทยศึกษาผู้นี้กล่าว และเสริมว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ในชั้นเรียนก็เป็นคนผิวดำ ซึ่งเป็นนักศึกษาส่วนมากในมหาวิทยาลัยของเธอ

“คนผิวดำเจ็บปวดลำบากขนาดไหนถึงต้องออกมาเสี่ยงชีวิตเรียกร้องความยุติธรรม มาประท้วงในช่วงโควิด…. ประวัติศาสตร์ไทยเองก็อุดมด้วยการประท้วงและมีจลาจลบ่อยครั้ง ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้ที่คนไทยไม่เข้าใจกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมในสังคม”

อาจารย์มาร์คก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า การพูดถึงความยุติธรรม มนุษยธรรม ความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานน่าจะเป็นการสื่อความที่ดีให้คนไทยในประเทศไทยเข้าใจ


มองในมุมมองการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ก็อาจช่วยให้คนไทยเข้าใจประเด็นการเหยียดสีผิวขึ้นเช่นกัน

ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่อาจารย์มาร์คมองว่า จะช่วยสื่อสารให้คนไทยในประเทศไทย เข้าใจถึงประเด็นของ Black Lives Matter ได้มากขึ้นเช่นกัน

“ประเด็นสำคัญคือ รัฐไม่ควรสังหารประชาชน” เขาอธิบาย

Police arrest a protestor during a "Black Lives Matter" demonstration on May 28, 2020 in New York City
Police arrest a protestor during a "Black Lives Matter" demonstration on May 28, 2020 in New York City

ในสหรัฐฯ ประเด็นการใช้ความรุนแรงในรัฐถูกมองในแง่ของการใช้อำนาจของตำรวจเป็นหลัก โดยตำรวจในสหรัฐฯ ถูกฝึกโดยกองทัพ มีการใช้อาวุธเหมือนทหาร “เวลาที่ตำรวจเข้าหาชุมชนมันเหมือนกับว่าพวกเขาจะทำสงคราม แทนที่จะไปปกป้องชุมชน แต่ตำรวจทำเหมือน[ผู้คน]เป็นศัตรู มันอันตรายมากนะครับ” มาร์คกล่าว “ตำรวจเขาถือว่าตัวเองมีค่าเท่ากับความปลอดภัยด้วย”


เขามองว่า ประเด็นของบทบาทของทหารต่อตำรวจ ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายต่อการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนนี้เอง ที่อาจทำให้คนไทยมองเห็นถึงประเด็นที่ขบวนการ Black Lives Matter ต้องการสื่อได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ เขายังมองด้วยว่า ผลจากลัทธิทุนนิยมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นขยายกว้างขึ้น ผลักให้ชนกลุ่มน้อยที่ยากจนกว่าในสังคมอย่างคนผิวดำ ชาวฮิสแปนิค และชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปอยู่ในชายขอบของสังคมมากขึ้น และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากรัฐได้มากกว่า ก็อาจช่วยสื่อให้คนทั่วโลกเข้าใจถึงประเด็นนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน

“แทนที่รัฐจะให้เงินสนับสนุนให้คนชายขอบมีโอกาสมากขึ้น รัฐกลับใช้ความรุนแรงมาปราบปรามให้พวกเขาออกมาตอบโต้น้อยลง ซึ่งมีแต่จะเอื้อให้ตำรวจใช้ความรุนแรงมากขึ้น ผมว่านี่ก็เป็นประเด็นที่คนไทยในประเทศไทยเข้าใจได้เช่นกัน”

การมีส่วนร่วมของคนไทยในสหรัฐฯ ต่อการเคลื่อนไหว Black Lives Matter

อาจารย์มาร์ค ซึ่งใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสังคมคนผิวดำและเป็นอาจารย์ด้านชาติพันธุ์ ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอดและเริ่มเข้าร่วมขบวนประท้วงของ Black Lives Matter บ่อยขึ้นนับตั้งแต่การเสียชีวิตของอีริค การ์เนอร์ ในปี 2557 ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครนิวยอร์กควบคุมตัวด้วยการเอาแขนรัดคอ


ในฐานะอาจารย์ เขาสนับสนุนขบวนการ Black Lives Matter โดยสอนเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในชั้นเรียน อ่านแถลงการณ์สนับสนุนคนผิวดำ แต่เขาก็ไม่ได้วางตนให้มีบทบาทนำแต่อย่างใด “ผมเป็นเอเชียนอเมริกัน ผมไม่อยากทำตัวเหมือนว่า ‘ฉันรู้หมดแหละว่าเราควรทำยังไง’ กับคนผิวดำ ที่เป็นผู้จุดประเด็นนี้โดยตรงและควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวนี้” เขากล่าว

Tanachai Mark Padoongpatt (second from right), a lecturer in Asian Ameircan studies at University of Nevada, Las Vegas, participates in Black Lives Matter rally in Las Vegas in December 2014
Tanachai Mark Padoongpatt (second from right), a lecturer in Asian Ameircan studies at University of Nevada, Las Vegas, participates in Black Lives Matter rally in Las Vegas in December 2014

ทางด้านอาจารย์กัญจนานั้น เธอเป็นหนึ่งในทีมผู้แปล “จดหมายเพื่อชีวิตของคนดำ” ที่ประกอบไปด้วยคนไทยในสหรัฐฯ 8 คน อายุตั้งแต่ 20 ถึง 40 ปี ที่มีพื้นฐานต่างกันตั้งแต่คนไทยที่เกิดที่สหรัฐฯ คนไทยที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ไทยและย้ายมาใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ และคนที่เพิ่งย้ายมาสหรัฐฯ ตอนโตแล้ว และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง

จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นฉบับที่สอง หลังจากที่มีฉบับแรกเมื่อปี 2559 โดยทีมผู้แปลตั้งใจใช้ภาษาไทยแบบไทยอเมริกันในการแปลจดหมายฉบับนี้ ซึ่งความท้าทายอย่างหนึ่งคือ นอกจากความแตกต่างระหว่างภาษาไทยและอังกฤษ เช่น การที่ภาษาไทยมีการใช้สรรพนามที่ระบุถึงเพศของผู้พูดมากกว่าภาษาอังกฤษแล้วจะแปลอย่างไรให้คนไทยที่ประเทศไทย ที่อาจไม่ได้ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เหมือนคนไทยในสหรัฐฯ ให้เข้าใจถึงสาระของจดหมาย


“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องทาส ในจดหมายฉบับแปลเป็นไทย เราต้องอธิบายว่าความเป็นมาของระบบทาสในสหรัฐฯ มีอิทธิพลกับสังคมปัจจุบันอย่างไร แตกต่างจากระบบทาสที่ไทยอย่างไร” เธออธิบาย “ถ้าเราใช้แค่คำว่า ‘ทาส’ ตรงๆ ไม่อธิบาย ไม่บรรยายความเป็นมา ประวัติศาสตร์ของคำคำนี้ ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับบริบท ‘ทาส’ ในประวัติศาสตร์ไทยก็อาจเข้าใจผิดได้”

ทั้งนี้ ในจดหมายดังกล่าว ทีมแปลได้อธิบายปูมหลังของแรงงานทาสในสหรัฐฯ ว่า “คนขาวใช้อำนาจทางกฎหมายคุกคามเพื่อทำให้คนดำต้องอยู่ใต้อำนาจ” และ “ระบบทาสได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งนานหลังสมัยสงครามกลางเมืองเพื่อเลิกทาส” และยังอธิบายเพิ่มด้วยว่าระบบการไล่ตามจับทาส (white slave patrols) เป็นการ “ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับนักโทษ” ซึ่งทั้งสามจุดนี้ เป็นการอธิบายเพิ่มเติมในฉบับภาษาไทยที่ไม่มีในจดหมายฉบับภาษาอังกฤษ

Thai version of Letters for Black Lives
Thai version of Letters for Black Lives



จินตนา เกศสงคราม ผู้นำสมาคมไทยในสหรัฐฯ หลายองค์กร ก็ใช้พื้นที่ในองค์กรที่เธอทำงานในการส่งข้อความถึงขบวนการ Black Lives Matter ด้วยเช่นกัน โดยนอกจากจะมีการจัดประชุมและเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในชมรมมีการพูดคุยกันถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว องค์กรโกลบอลไทยซิติเซ่น (Global Thai Citizen) และสมาคมไทยอเมริกันสามัคคี โคลิชั่น (Samakkee Thai American Coalition) ที่เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ก็เป็น 2 ใน 5 องค์กรไทยในสหรัฐฯ ที่ร่วมกับองค์กรเอเชียนอเมริกันอื่นๆ ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันต่อชาวผิวดำจากกรณีการเสียชีวิตของฟลอยด์

“เพราะคนผิวดำต่อสู้มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้คนเอเชียนอเมริกัน คนไทยอเมริกัน และคนทุกสีผิวสามารถมีสิทธิเลือกตั้ง ทานอาหารในร้านอาหาร หรือทำงาน [เหมือนคนผิวขาว] ได้” จินตนากล่าว “ถ้าเราเงียบเฉยการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและความรุนแรงของตำรวจก็จะไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”

Chintana Ketsongkhram, co-founder and leader of several Thai-American associations
Chintana Ketsongkhram, co-founder and leader of several Thai-American associations


นอกจากนี้ สมาคมไทยอเมริกันสามัคคี โคลิชั่น ยังร่วมลงนามกับองค์กรเอเชียนอเมริกันอีกกว่า 180 องค์กร ในข้อร้องเรียนถึงทำเนียบขาวเพื่อเรียกร้องให้มีการออกมาตราการปกป้องชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิคจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง โดยข้อเรียกร้องนี้มุ่งประเด็นไปที่ชาวเอเชียนอเมริกันตกเป็นเป้าของการเหยียดอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดกำเนิดจากประเทศจีน

ทั้งนี้ โครงการยุติอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวเอเชียนอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิค (Stop AAPI Hate) ระบุว่า ได้รับรายงานเหตุการณ์ที่ชาวเอเชียนอเมริกันถูกเหยียดในช่วงไวรัสระบาดถึง 1,843 กรณี ใน 45 รัฐทั่วทั้งสหรัฐฯ รวมทั้งในกรุงวอชิงตัน นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยมีกรณีการคุกคามทางวาจามากที่สุดที่ 69.3% ตามมาด้วยการหลีกหนี ไม่ยุ่งด้วยที่ 22.4% การทำร้ายร่างกายที่ 8.1% และการถ่มน้ำลายหรือไอใส่ผู้ถูกกระทำที่ 6.6%

ทางโครงการยังระบุด้วยว่า จากกรณีทั้งหมดนั้น มีกรณีที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง เช่น การกีดกันในที่ทำงาน การถูกห้ามใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อยู่ที่ 8.8% โดยกรณีต่างๆ เกิดขึ้นในที่ทำงานสูงถึง 42.1%



รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai

XS
SM
MD
LG