Charvi Goyal นักเรียนมัธยมปลายจากนครดัลลัส รัฐเท็กซัส ให้การช่วยเหลือเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ โดยการสอนพิเศษในระหว่างเวลาเรียน โดยติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษผู้นี้สามารถสอนนักเรียนคนเดียวหรือสอนนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ได้
เมื่อโรงเรียนมัธยมปลายของ Goyal ได้เปลี่ยนไปสอนแบบออนไลน์เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาเนื่องจากวิกฤตโคโรนาไวรัส เธอก็ตัดสินใจที่จะสอนพิเศษทางออนไลน์ด้วย
Charvi Goyal เด็กสาวอายุ 17 ปีและเพื่อนนักเรียนอีกสามคนได้สร้างเวบไซต์ TutorScope ซึ่งให้บริการสอนพิเศษฟรีสำหรับเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ รวมถึงเด็กเล็ก ๆ ด้วย
ทั้งนี้ TutorScope เริ่มต้นจากการมีครูสอนพิเศษเพียงไม่กี่คนที่คอยช่วยเหลือเด็กนักเรียนในเมืองของตน จากนั้นก็เติบโตขึ้นจนมีกลุ่มผู้สอนถึง 22 คนจากรัฐเท็กซัส แอริโซนา และโอไฮโอ พวกเขาได้ช่วยเหลือนักเรียนมากกว่า 300 คน ซึ่งบางคนมาไกลจากเกาหลีใต้เลยทีเดียว
Goyal กล่าวว่า เธอคาดการณ์เอาไว้ว่าโรงเรียนต่าง ๆ จะเปลี่ยนมาทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และยังเชื่อว่าชั้นเรียนออนไลน์น่าจะประสบปัญหาบางอย่าง อย่างเช่นการสื่อสารระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับครูจะแย่ลง
TutorScope มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวเหมือนเวลาที่ครูสอนหนังสือแบบดั้งเดิมในขณะที่เดินไปรอบ ๆ ห้องเรียน แต่ตอนนี้ครูหลายคนไม่สามารถให้การช่วยเหลือนักเรียนแบบตัวต่อตัวได้เนื่องจากไม่มีเวลาหรือมีปัญหาทางด้านเทคโนโลยี
Sarah Newman กล่าวว่า ลูกฝาแฝดวัย 7 ขวบของเธอได้รับความช่วยเหลือจาก TutorScope บริการดังกล่าวช่วยให้เธอและลูกชายวัย 17 ปีมีเวลาเอาใจใส่งานของตน เธอกล่าวอีกว่า ครูสอนพิเศษเหล่านี้มีความอดทนกับเด็กเล็ก ๆ ซึ่งแม้แต่คนเป็นแม่อย่างเธอก็ไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี TutorScope ไม่ใช่กลุ่มไม่แสวงผลกำไรกลุ่มแรกที่สอนพิเศษออนไลน์ แต่สิ่งที่ทำให้ความพยายามของ TutorScope มีความพิเศษก็คือความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครวัยรุ่นกับเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ที่พวกเขากำลังให้การช่วยเหลือ
ในภาคการศึกษาที่ 3 นี้ TutorScope ได้รับสถานะเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีของสหรัฐ หรือ IRS นอกจากนี้ยังมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้พวกเขาใช้งานระบบจัดประชุมติวเตอร์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ตัวผู้สอนเองยังได้รับประสบการณ์เพื่อเขียนลงในการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยหรือสมัครงานอีกด้วย และการให้บริการนี้ยังช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ว่าควรจะเป็นครูสอนหนังสือแบบเต็มเวลา หรือประกอบธุรกิจ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนในสักวันหนึ่ง
ทั้งนี้ ความหวังของ Goyal ที่มีต่อบรรดาอาสาสมัครก็คือ คนเหล่านั้นต้องการที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่พวกเขาสอนอย่างแท้จริง แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะทำให้นักเรียนหลาย ๆ คนให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก แต่การทำงานร่วมกับผู้อื่นในโครงการใหญ่นี้ทำให้เธอต้องมองออกไปที่ผู้อื่นด้วย
Goyal บอกว่าเธอมีความมั่นใจมากขึ้น ได้ผูกมิตรกับนักเรียนคนอื่น ๆ จากโรงเรียนของเธอเอง และว่าสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่กำลังเติบโตนี้ก็คือการ “ช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย” จากการที่ต้องติดอยู่ที่บ้าน