ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พ่อแม่ควรฟัง “สื่อสารอย่างไรให้ตรงใจวัยรุ่น”


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:39 0:00

ความปวดหัวส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองหลายคนต้องเคยเผชิญ นั่นคือลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมาปรึกษาปัญหา แต่บทสนทนามักจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจพวกเขา และลงท้ายด้วยบรรยากาศที่ขุ่นมัว ความสัมพันธ์แทนที่จะดีขึ้นกลับแย่ลง อะไรคือสิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักเวลาลูกมาปรึกษา รับมืออย่างไรเพื่อสร้างผลลัพธ์และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น Lisa Damour ได้ถ่ายทอดเคล็ดลับผ่านบทความที่ตีพิมพ์ใน The New York Times เธอชี้ว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ในสิ่งที่ลูกๆ คาดหวัง

ประเด็นแรกที่พ่อแม่ควรทำเวลาลูกวัยรุ่น มาปรึกษานั่นคือ “การเป็นผู้ฟังที่ดี” วัยรุ่นไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ที่บางครั้งเพียงอยากจะระบายปัญหา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กหรือจะใหญ่ การได้พูดออกมาจะช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกสบายใจมากยิ่งขึ้น หลายครั้งการเล่าออกมาจะช่วยให้พวกเขาเรียบเรียงปัญหา พ่อแม่ควรทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง เลี่ยงการพูดขัดจังหวะ และพยายามไม่แทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไปในบทสนทนา

ปัญหาของวัยรุ่นต้องให้ตัวเขาเองแก้ไขเอง เราต้องยอมรับว่าพ่อแม่ไม่สามารถเข้าไปช่วยทำให้ลูกหายอกหัก หรือยุติการทะเลาะในกลุ่มเพื่อนฝูง ผู้ปกครองก็ไม่สามารถไปเลื่อนวันสอบวัดผลที่ใกล้เข้ามา ปัญหาและความเครียดเหล่านี้อาจทำให้เด็กหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว สิ่งที่ทำได้คือ “สร้างความรู้สึกว่าลูกไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง” คำพูดที่เห็นอกเห็นใจจะช่วยให้ผู้ฟังรับรู้ถึงความห่วงใย ยกตัวอย่างเช่น “ลูกจะหงุดหงิดในเรื่องนี้ก็ไม่แปลก” ประโยคนี้จะช่วยให้วัยรุ่นรู้ว่าพ่อแม่อยู่ข้างเขา หรืออาจจะตั้งเป็นประโยคคำถาม เช่น “ตอนนี้อยากอยู่คนเดียวไหมหรืออยากให้อยู่ใกล้ๆ” “พ่อช่วยอะไรตอนนี้ได้ไหมที่จะทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น” คำถามเหล่านี้แสดงออกถึงความจริงใจและไม่ทอดทิ้งให้เขาต้องแก้ปัญหาอยู่คนเดียว

ในบางกรณีคำแนะนำที่ดีของพ่อแม่อาจจะเป็นดาบสองคม เพราะวัยรุ่นอาจจะสูญเสียความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง รู้สึกว่าผู้ใหญ่เท่านั้นที่ให้คำแนะนำที่ดีได้ วิธีการที่ควรนำไปปรับใช้คือ “สร้างความเชื่อมั่น” พูดให้กำลังใจ ส่งเสริมให้เห็นว่าตัวเขาเองจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน วัยรุ่นบางคนอาจจะไม่ต้องการคำแนะนำหรือทางออก เพียงแต่อยากได้ความเห็นด้วยจากผู้ปกครอง พ่อแม่ควรที่จะระมัดระวังการสื่อสารมากเป็นพิเศษ แม้บางทีพวกเขาตัดสินใจพลาด แต่นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาของการสะกิดรอยแผลของความผิดพลาด ประโยคอย่าง “แม่เคยบอกแล้วว่าอย่าทำอย่างนี้” จะไม่นำไปสู่บรรยากาศของการสนทนาที่สร้างสรรค์ ถ้าอยากจะเตือนควรพูดคุยในโอกาสอื่นๆ ที่สภาวะของวัยรุ่นไม่เปราะบางและอยู่ในสถานะที่เปิดรับความคิดเห็นของพ่อแม่

หลังจากที่ “รับฟังปัญหา” “แสดงความเห็นอกเห็นใจ” และ “สร้างความเชื่อมั่น” ถ้าหากลูกวัยรุ่นขอให้พ่อแม่แสดงความคิดเห็น สองสิ่งที่ควรทำคือ “ค้นหาว่าลูกต้องการอะไร” และ “ช่วยเหลือตามความเหมาะสม” ยกตัวอย่างเช่น ลูกทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และมีการบ้านต้องเขียนรายงานส่งอาจารย์ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจคือลูกอยากทำกิจกรรมซึ่งไม่ควรไปแนะนำให้ตัดทิ้ง และการให้ความช่วยเหลืออย่างเช่น ช่วยเตรียมอาหารเพื่อให้ลูกได้ทาน ทำให้เขามีเวลามากขึ้นเพื่อการเรียนและทำกิจกรรม ถือว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

สุดท้ายแล้ววัยรุ่นอาจจะไม่ได้ซับซ้อน พวกเขาเพียงแค่ต้องการพ่อแม่ที่รับฟังปัญหาและมีความเข้าอกเข้าใจ ที่สำคัญผู้ใหญ่ควรพักความคิดเห็นของตัวเองไว้ก่อน

ที่มา: นิวยอร์กไทม์ส

XS
SM
MD
LG