แม้ว่าแถบเมดิเตอร์เรเนี่ยนจะขึ้นชื่อว่ามีแสงแดดตลอดทั้งปี แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเเสงอาทิตย์ในบริเวณนี้ยังอยู่ในระดับย่อยเท่านั้น
แต่ขณะนี้ ทีมงานก่อสร้างในทะเลทราย Negev ในอิสราเอล กำลังติดตั้งกระจกสะท้อนแสงแผ่นราบ (heliostat) ขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อเป็นตัวสะท้อนเเสงแดดไปยังหอคอยสูง ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จจะกินพื้นที่ถึงหนึ่งล้านตารางเมตร
Noam Nizani แห่งโครงการ Megalim Solar Power กล่าวว่านี่เป็นการก่อสร้างโครงการผลิตกระเเสไฟฟ้าขนาดใหญ่มาก ที่จะต้องใช้กระจกสะท้อนแสงแผ่นราบขนาดใหญ่รวมกันเเล้วถึงห้าหมื่นชิ้น เพื่อช่วยสะท้อนเเสงอาทิตย์ไปยังหอคอยจุดต่างๆ
เครื่องผลิตกระเเสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กส่วนมากใช้เทคโนโลยีโฟโตโวลตาอิก (photovoltaic) ที่แปลงเเสงแดดให้เป็นไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีราคาถูกลงอย่างมาก แต่สำหรับโรงงานไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ จะคุ้มทุนมากกว่าหากใช้เทคโนโลยีการสั่งสมความร้อนจากเเสงอาทิตย์ เพื่อไปผลิตไอน้ำที่จะไปหมุนตัวเจนเนอร์เรเตอร์ที่ทำหน้าที่ผลิตกระเเสไฟฟ้า
กระจกสะท้อนแสงแผ่นราบที่สะท้อนเเสงแดดไปยังจุดที่ต้องการ จะหันไปตามทิศทางของพระอาทิตย์ที่เดินทางข้ามขอบฟ้าตลอดทั้งวัน
คุณ Earn Gartner ซีอีโอแห่งบริษัท Megalim Solar Power ชี้ว่าหากก่อสร้างเสร็จในปีหน้า โรงไฟฟ้า Megalim Solar Power จะผลิตกระเเสไฟฟ้าได้ 121 เมกะวัตต์ เพียงพอต่อการใช้ในบ้าน 120,000 หลัง
ในขณะเดียวกันนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์แบบเดียวกันนี้ที่ตั้งอยู่ในทางใต้ของเทือกเขา Atlas ในโมร็อคโค เฟสเเรกสร้างเสร็จเเล้ว และได้เริ่มผลิตกระเเสไฟฟ้าเเล้ว
โรงไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ Noor Power Plant นี้ใช้เทคโนโลยีอีกแบบหนึ่ง โดยใช้แผ่นกระจก parabolic แทน ซึ่งทำหน้าที่ทำให้เกลือเหลวชนิดพิเศษร้อนขึ้นไปจนถึง 400 องศาเซลเซียส เกลือเหลวนี้จะไหวผ่านท่อที่ติดตั้งไปแนวแผ่นกระจกและมันจะยังคงความร้อนเอาไว้ในตัวได้นานถึง 3 ชั่วโมง หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว
เมื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้ทั้งสามเฟสเสร็จสิ้นในปี 2018 โรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโมร็อคโคนี้จะผลิตกระเเสไฟฟ้าได้มากกว่า 500 เมกะวัตต์ เพียงพอเเก่ประชากร 1 ล้าน 1 แสนคน
เจ้าหน้าที่ของโรงงานไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ในทั้งสองประเทศนี้ชี้ว่า จุดก่อสร้างของทั้งสองโรงงานอยู่ห่างไกลจากเส้นทางเดินทางของนกอพยพมาก จึงไม่น่าสร้างปัญหาแต่อย่างใดแก่นกอพยพ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)