ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญผุดไอเดียใส่ข้อมูลดิจิทัลลงในดีเอ็นเอ เก็บข้อมูลได้ยาวนานนับพันปี


ผู้เชี่ยวชาญผุดไอเดียใส่ข้อมูลดิจิตอลลงในดีเอ็นเอ เพื่อการเก็บข้อมูลได้ยาวนานนับพันๆ ปี

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเร่งมือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ผู้เชี่ยวชาญร่วมงานประชุม Milken Institute Global Conference เสนอความคิดเรื่องการใส่ข้อมูลดิจิทัลลงในดีเอ็นเอ และใช้เทคนิคขั้นสูงตัดแต่งยีน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วและการเก็บข้อมูลได้ยาวนานนับพันปี

ที่งานประชุม Milken Institute Global Conference ในเขตลอสเเองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์แนวหน้าของวงการตัดต่อพันธุกรรมร่วมเสวนากันเรื่องการตัดแต่งดีเอ็นเอด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

บางบริษัทกำลังพัฒนานวัตกรรมที่อาจสามารถช่วยให้พืช สัตว์ และมนุษย์เพิ่มศักยภาพในการดำรงชีวิตได้รวดเร็วแบบก้าวกระโดด

Joshua Hoffman ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Zymergen กล่าวว่า บริษัทใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและการเรียนรู้กลไกต่างๆ มาช่วยตัดแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เพื่อให้พวกมันมีความสามารถทำหน้าที่เป็นโรงงานเคมีขนาดจิ๋วที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับสิ่งท้าทายต่างๆ

เขาบอกว่า พันธุกรรมที่ถูกตัดแต่งจะะมีความสามารถในการแปรรูปทางเคมี ถ้าเทคโนโลยีนี้ถูกในไปใช้ทางการเกษตร พืชในอนาคตอาจจะสามารถต่อสู้โรคต่างๆ ได้ดีขึ้น

ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Things That Will Blow Your Mind” ครั้งนี้ ยังประกอบด้วยผู้มีแนวคิดล้ำยุคเรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมมนุษย์

Vivienne Ming แห่ง Socos Labs กล่าวว่า เธอสนใจในเรื่องอวัยวะเทียมที่มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เธอคิดถึงคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยทำให้คนฉลาดขึ้นด้วยการฝังอุปกรณ์ลงในสมองมนุษย์

ผู้ก่อตั้ง Socos Labs รายนี้ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้เราทราบแล้วว่าสามารถเพิ่มศักยภาพของการทำงานของสมองคนได้อีกประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็กำลังทดลองการติดตั้งอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย เพื่อเพิ่มศักยภาพของสมองมนุษย์

Vivienne Ming มองไปถึงอนาคตว่า เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ขาดแคลนโอกาส ในเรื่องการช่วยเรียนให้ทันเด็กจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่า

ขณะเดียวกัน Hyunjun Park ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Catalog Technologies กล่าวถึงโครงการของตนที่พัฒนาดีเอ็นเอเทียม ที่เก็บข้อมูลดิจิทัลได้

เขาบอกว่า ปัจจุบันคนอยู่ในโลกที่ต้องรับข้อมูลมากมายมหาศาล คำถามคือแล้วเราจะใช้เครื่องมือใดในการช่วยเก็บข้อมูลเหล่านั้น บริษัทของเขาจึงพัฒนาดีเอ็นเอเทียมเพื่อช่วยเก็บข้อมูลขึ้นมา ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ยาวนานเป็นพันๆ ปี

นอกจากนี้ Hyunjun Park แห่งบริษัท Catalog Technologies กล่าวว่าบริษัทของเขาสามารถคิดนวัตกรรมนี้ที่พัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทอื่น

เขาบอกว่า ตอนนี้นักลงทุนสนใจโครงการด้านเทคโนโลยีชีวภาพกันมากขึ้น หลังจากที่มุ่งความสนใจไปธุรกิจไฮเทคหลักๆ ของซิลิคอนแวลลีย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Elizabeth Lee จากนครลอสแองเจลิส)

XS
SM
MD
LG