เมื่อเดือนกันยายน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติปล่อย Tasmanian Devil 11 ตัวกลับคืนสู่ธรรมชาติบนเกาะใหญ่ของทวีปออสเตรเลีย Tasmanian Devil สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสี่ขาที่กินเนื้อเป็นอาหารซึ่งมีกระเป๋าหน้าท้องและรูปร่างคล้ายสุนัขดังกล่าวเป็นสัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลียและบนเกาะทัสเมเนียตามชื่อที่เรียก แต่ได้สูญพันธุ์จากผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปออสเตรเลียมานานกว่าสามพันปีแล้วจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งจากการรุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์
อันที่จริงแล้ว Tasmanian Devil หรือที่บางคนอาจเรียกว่าปีศาจทัสเมเนียนี้ไม่ได้มีลักษณะคล้ายปีศาจแต่อย่างใด เพราะเป็นสัตว์สี่ขารูปร่างอ้วนเตี้ยคล้ายสุนัข มีขนสีดำหรือน้ำตาล มีหูแหลมและมีหางยาว น้ำหนักราว 8 กิโลกรัมลำตัวยาวประมาณ 3 ฟุตครึ่ง อยู่ในตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมโดยเป็นสัตว์ประเภทที่มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้กับหมีโคอาล่าแต่เป็นสัตว์ประเภทกินเนื้อล่าเหยื่อกลางคืนและมีจมูกไวต่อกลิ่นรวมทั้งมีฟันและขากรรไกรที่ทรงพลังขนาดเคี้ยวกระดูกให้แตกได้ แต่ที่สำคัญก็คือสัตว์ชนิดนี้ไม่ทำร้ายมนุษย์ทว่าจะป้องกันตัวเองถ้าถูกทำร้ายก่อนและสามารถทำให้บาดเจ็บอย่างหนักได้ด้วย
Tasmanian Devil ตัวเมียสามารถออกลูกได้คราวละ 50 ตัวแต่จะมีเพียงสี่ตัวเท่านั้นที่มีชีวิตรอดได้ด้วยนมแม่ส่วนที่เหลือนั้นจะตายหมด ในครั้งหนึ่งสัตว์พื้นเมืองดังกล่าวเคยมีถิ่นที่อยู่บนพื้นทวีปของออสเตรเลียกับบนเกาะทัสเมเนีย ซึ่งเคยมีประชากรอยู่ถึง 140,000 ตัว แต่โรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้เกิดเนื้องอกบนหน้าและรักษาไม่ได้เมื่อราว 30 ปีที่แล้วทำให้จำนวนลดลงเหลือเพียงราว 20,000 ตัวเท่านั้นเอง ขณะที่บนแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลียนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสี่ขาพร้อมกระเป๋าหน้าท้องที่ว่านี้ได้สูญพันธุ์ไปนานแล้วจากสภาพอากาศที่แล้งจัด จากหมาป่าพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียและจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ด้วย
แต่หลังจากที่ใช้เวลา 16 ปีกับโครงการขยายพันธุ์ องค์กรด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อ Aussi Ark ก็ประสบความสำเร็จในการปล่อย Tasmanian Devil หลายสิบตัวกลับคืนสู่ธรรมชาติบนพื้นทวีปใหญ่ของออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมและในเดือนกันยายนโดย Tasmanian Devil รุ่นล่าสุด 11 ตัวถูกนำไปปล่อยไว้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์
นักอนุรักษ์ธรรมชาติยินดีกับความก้าวหน้าเรื่องการนำ Tasmanian Devil กลับคืนสู่พื้นทวีปออสเตรเลียอีกครั้งหลังจากที่สูญพันธุ์มานานถึงราว 3,000 ปี โดยชี้ว่าสัตว์ตระกูลล่าสัตว์และกินซากสัตว์อื่นเป็นอาหารนี้จะช่วยสร้างสมดุลย์ให้กับธรรมชาติได้รวมทั้งจะเป็นหลักประกันว่าสัตว์ที่เหลืออยู่บนเกาะทัสเมเนียจะไม่สูญพันธุ์โดยสิ้นเชิงหากมีโรคระบาดอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม Tasmanian Devil รุ่นแรกๆ นี้จะไม่ออกหากินโดยอิสระเพราะนักวิทยาศาสตร์ยังจะช่วยให้อาหารและติดตามศึกษาความเคลื่อนไหวในระยะหนึ่งก่อน
และสำหรับชื่อ Tasmanian Devil ซึ่งบางคนอาจนึกสงสัยว่าเหตุใดจึงมีชื่อว่าปีศาจอยู่ด้วยนั้น ข้อมูลระบุว่าชื่อดังกล่าวมาจากการที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปในออสเตรเลียรุ่นแรกๆ ได้ยินเสียงกรีดร้องอย่างโหยหวนเข้ากระดูกเมื่อสัตว์ดังกล่าวออกหากินเป็นฝูงจึงได้ชื่อตามนั้น