ในขณะที่ โจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต กำลังเฟ้นหาผู้ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับเขา ชื่อของ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย จากรัฐอิลลินอยส์ ก็ได้รับความสนใจจากสื่ออเมริกันยักษ์ใหญ่ในฐานะหนึ่งในตัวเต็ง โดยนักวิเคราะห์มองว่า หากแทมมีได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจริง อาจเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย จีน และสหรัฐฯ ได้
สื่อนิวยอร์กไทมส์เผยแพร่รายงานข่าวและบทวิเคราะห์คุณสมบัติของเธออย่างน้อยสามครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้แทมมีจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไบเดน แต่ทีมงานของของเขาก็ค่อนข้างจริงจังกับเธอ โดยได้ทำการสัมภาษณ์เธอและขอให้แทมมีส่งเอกสารตรวจสอบประวัติแล้ว
บทบาทของพันโทหญิงผู้ผ่านสงครามอิรักจนสูญเสียขาทั้งสองข้างในปี 2547 ผู้นี้ โดดเด่นในด้านการทำงานเพื่อสิทธิของทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงด้านนโยบายคุ้มครองคนพิการ
และหากพูดถึงบทบาทด้านการทหารที่เกี่ยวข้องกับไทยนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ. แทมมี ในฐานะกรรมาธิการกิจการทหาร วุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ได้เข้าร่วมต้อนรับ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกของไทย ในฐานะแขกของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน
ในครั้งนั้น แทมมีได้กล่าวว่า "ในฐานะลูกครึ่งไทย-สหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะต้องสานต่อและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคนั้นมีความสำคัญต่อกิจการของสหรัฐฯ และสหรัฐฯควรที่จะมุ่งสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น”
แทมมีเคยได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยมาหลายคน ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อปี 2562 เมื่อครั้งที่เธอเยือนประเทศไทยพร้อมคณะตัวแทนจากรัฐสภาสหรัฐฯ และเมื่อปี 2556 แทมมี ในฐานะแขกของกระทรวงต่างประเทศไทย ก็เข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ไทยในขณะนั้น
พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำศูนย์ประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ในฐานะนักการเมืองอเมริกัน แทมมีไม่ได้แสดงจุดยืนต่อขั้วการเมืองใดในไทยอย่างชัดเจน และบทบาททางการทหารของเธอก็อาจทำให้ความสัมพันธ์กองทัพไทย-สหรัฐฯ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หากเธอได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปใน 2562 โดยสหรัฐฯ เคยลดเงินช่วยเหลือด้านการทหารหลังไทยมีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนกองทัพไทยหันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนมากขึ้น
อาจารย์พอล มองว่า จุดยืนด้านการต่างประเทศโดยเฉพาะต่อจีนของแทมมี เห็นได้จากการที่เธอเป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ผลักดันกฎหมายบทลงโทษในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษต่อกิจกรรมบางประการของจีนในเขตน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยหากแทมมีได้เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง เธอในฐานะรองประธานาธิบดี อาจมีบทบาทในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนต่อกองทัพไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ประวัติชีวิตส่วนตัวและการทำงานของแทมมีถือว่าโดดเด่น ทั้งการเป็นทหารหญิงผ่านสงครามอิรัก การเป็นวุฒิสมาชิกคนแรกที่ให้กำเนิดบุตรในขณะดำรงตำแหน่ง และยังเคยพาลูกสาววัยแรกเกิดเข้าร่วมการโหวตในสภา และหากเธอได้เป็นตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เธอจะเป็นทหารผ่านศึกหญิงคนแรก ชาวเอเชียนอเมริกันคนแรก และหญิงผิวสีคนแรกจากพรรคใหญ่ที่ได้ลงชิงตำแหน่งระดับชาติอีกด้วย
แทมมียังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมกิจการทหารผ่านศึกรัฐอิลลินอยส์เมื่อปี 2549-2552 ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกสหรัฐฯ เมื่อปี 2552 -2554 ก่อนจะเข้าสู่สภาด้วยการเป็น ส.ส. สหรัฐฯ สองสมัยจากเขต 8 รัฐอิลลินอยส์เมื่อปี 2556-2560 และเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ตั้งแต่ปี 2560
ทางด้านจุดยืนทางการเมืองนั้น นิวยอร์กไทมส์วิเคราะห์ว่า แทมมีมีความเป็น “ซ้ายกลาง” ซึ่งแม้อาจไม่ทำให้เธอโดดเด่นในนโยบายสายก้าวหน้า แต่ก็เป็นจุดร่วมระหว่างเธอกับไบเดน และอาจช่วยให้เธอดึงคะแนนจากฐานเสียงสายกลางได้เมื่อเทียบกับตัวเต็งคนอื่นๆ เช่น วุฒิสมาชิกอลิซาเบธ วอร์เรนที่เป็นหัวก้าวหน้าชัดเจนแต่ก็มีอายุถึง 71 ปี เมื่อเทียบกับแทมมีที่มีอายุเพียง 52 ปี หรือวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส ที่ต่อสู้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างจริงจังแต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มฐานเสียงอเมริกันผิวดำเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์ก็วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของแทมมีด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในประเด็นที่จะเป็นนโยบายหาเสียงสำคัญ เช่น เศรษฐกิจหรือกิจการตำรวจ เป็นนักการเมืองจากรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นรัฐที่เป็นฐานเสียงแข็งของพรรคเดโมแครตอยูู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจะมาจากรัฐที่มีฐานคะแนนเสียงแกว่ง (swing state) และเธอยังไม่ได้เป็นชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนคะแนนให้ไบเดนได้ จากกระแสที่ชาวอเมริกันกำลังให้ความสำคัญต่อการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในประเด็นนี้เอง อาจารย์พอลก็เห็นด้วยว่า แม้แทมมีจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจไม่ใช่ “ผู้ถูกเลือก” จากไบเดน ที่อาจต้องการรองประธานาธิบดีที่เป็นคนผิวดำหรือฮิสแปนิค เพื่อดึงคะแนนจากกลุ่มฐานเสียงดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวเอเชียนอเมริกัน
รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai