ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ พัฒนาการควบคุม ‘กองทัพโดรน’ แบบง่าย ๆ ด้วยคน ๆ เดียว


ภาพฝูงโดรน
ภาพฝูงโดรน

สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงภายใต้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense Advanced Research Projects Agency - DARPA) เผยว่า การทดลองภาคสนามที่ศูนย์ฝึกอบรมของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เพียงคนเดียวสามารถควบคุมฝูงโดรนและหุ่นยนต์ภาคพื้น จำนวนมากกว่า 100 ตัวหรือมากกว่าได้ โดยปราศจากความเครียดแล้ว

“ฝูงจู่โจม” หรือ “Swarm Commander” ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานและฝูงยานพาหนะ ซึ่งจะสามารถควบคุมและเฝ้าติดตามการปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมจำลอง ระยะห่าง 10 บล็อก หรือราวสองกิโลเมตร

ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เสมือนจริง (VR) ควบคุมฝูงโดรน
ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เสมือนจริง (VR) ควบคุมฝูงโดรน

ตัวอย่างของภารกิจที่ทีมงานได้รับมอบหมายในวันนี้ คือ การสำรวจสภาพแวดล้อมในตัวเมืองขณะทำการบินหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่รวมถึงสายไฟฟ้า เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรองทั้งหลาย

จูลี เอ. อดัมส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Collaborative Robotics and Intelligent Systems (CoRIS)
จูลี เอ. อดัมส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Collaborative Robotics and Intelligent Systems (CoRIS)

จูลี เอ. อดัมส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานและระบบอัจฉริยะ (Collaborative Robotics and Intelligent Systems - CoRIS) จาก Oregon State University ที่ทำโครงการร่วมกับ DARPA อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้ควบคุมฝูงโดรนสามารถสั่งงานผ่านการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวเพื่อส่งคำสั่งกลยุทธ์พร้อม ๆ กันหลายคำสั่งยังโดรนจำนวนมากให้ออกปฏิบัติภารกิจที่วางแผนไว้ได้

ความก้าวหน้านี้เชื่อว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อกองทัพและประชาชนทั่วไป อย่างเช่น การส่งโดรนไปช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อดัมส์ เผยถึงเป้าหมายในระยะยาวของโครงการพัฒนานี้ ซึ่งก็คือ การมีทีมหุ่นยนต์ที่มีความสามารถหลากหลาย ออกปฏิบัติภารกิจเคียงข้างทีมงานมนุษย์ เช่น การดับไฟป่า หรือกู้ภัยธรรมชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีนี้สร้างสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมได้จริง

แฟ้มภาพ - นักผจญเพลิงเข้าจัดการไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 31 ต.ค. 2566 (Reuters)
แฟ้มภาพ - นักผจญเพลิงเข้าจัดการไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 31 ต.ค. 2566 (Reuters)

เธอเสริมว่า “เราต้องการให้มนุษย์มุ่งความสนใจไปยังงานที่จำเป็นต้องทำอย่างแท้จริง เป็นงานที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ แต่ต้องแน่ใจว่า เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินของเราจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้นด้วย”

หนึ่งในการใช้งานโดรนที่เราสามารถเห็นได้จริงในทุกวันนี้ คือ การจัดส่งพัสดุในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องชี้ว่า ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่รอให้มีการปรับปรุงอยู่

ภาพการใช้โดรนส่งพัสดุ
ภาพการใช้โดรนส่งพัสดุ

ตัวแทนจากสถาบัน CoRIS ยังแสดงทัศนะว่า “ในปัจจุบัน กฎระเบียบขององค์การบริหารการบินของรัฐบาลสหรัฐฯ (FAA) ยังจำกัดจำนวนพาหนะที่คนหนึ่งคนจะสามารถควบคุมได้ และในอนาคต เราอยากที่จะเห็นจำนวนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้น”

แม้โครงการควบคุมฝูงพาหนะด้วยบุคคลเพียงคนเดียวยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา แต่นักวิจัยเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG