นักวิจัยเพิ่งเปิดเผยผลงานการศึกษาชิ้นใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ระบุว่า ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่ใช้สารโอปิออยด์ (opioid) จะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลระยะเวลาสั้นกว่าและต้องการยาที่น้อยกว่ากรณีของทารกจากคุณแม่ที่ไม่ได้ใช้สารดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อการดูแลเด็กนั้นเน้นการมีส่วนร่วมและการสัมผัสผิวกายทารกของคุณแม่ รวมถึงเมื่ออยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เงียบสงบด้วย
รายงานดังกล่าวระบุว่า ทารกแรกเกิดพร้อมที่จะกลับบ้านเร็วขึ้นประมาณหนึ่งสัปดาห์เมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานปกติ ขณะที่ สัดส่วนของทารกที่ได้รับการใช้ยาโอปิออยด์ เพื่อบรรเทาอาการสั่นเทา หรืออาการร้องไห้ที่ยากจะปลอบ อยู่ที่ราว 20% เมื่อเทียบกับสัดส่วน 52% ของทารกที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ นักวิจัยระบุด้วยว่า เด็กที่เกิดจากแม่ผู้ใช้ยาโอปิออยด์ อย่างเช่น ยาบรรเทาปวดเมธาโดน (methadone) อาจมีอาการถอนยา (withdrawal symptom) หลังจากที่รับสารดังกล่าวในครรภ์มารดา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หน่วยดูแลทารกแรกเกิดจะใช้ระบบการให้คะแนนเพื่อตัดสินใจว่า ทารกคนใดต้องการยาเพื่อบรรเทาอาการจากการถอนยา
แพทย์หญิงเลสลี ยัง จากโรงพยาบาลเด็ก ของ University of Vermont ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของการวิจัยนี้กล่าวว่า โดยปกติ แม่ของเด็กจะรอฟังผลคะแนนดังกล่าวด้วยความกระวนกระวาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เครียดอย่างมากของครอบครัว
แพทย์หญิงยัง อธิบายถึงวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “กิน นอน ปลอบ” (Eat, Sleep, Console - ESC) ที่พยาบาลจะให้คุณแม่มาร่วมดูแลเด็กเพื่อทำการประเมินดูว่ากิจกรรมต่าง ๆ เช่น การโยกตัวกล่อมเด็ก การให้นม หรือการโอบกอด จะทำให้ทารกสงบลงได้หรือไม่ ขณะที่ การใช้ยานั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือก แต่สภาวะแวดล้อมก็ถือเป็นปัจจัยที่ใช้พิจารณาเช่นกัน
แพทย์หญิงยัง อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นสภาวะแวดล้อมที่ควรพิจารณาในการประเมิน เช่น โทรทัศน์ในห้องเปิดอยู่หรือไม่ ไฟเปิดอยู่ไหม และเราควรจะต้องปิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้หรือเปล่า เป็นต้น
ตลอดการวิจัยนั้น พยาบาลประมาณ 5,000 คนเข้ารับการฝึกอบรมในระหว่างการดำเนินการศึกษาที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ออกมาโดยวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า นักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการทำการศึกษาวิธีการดูแลทารกแรกเกิดจำนวน 1,300 คนจากโรงพยาบาล 26 แห่งในสหรัฐฯ และใช้การเปรียบเทียบทารกที่เกิดก่อนที่พยาบาลในการศึกษาจะได้รับการฝึกอบรมกับทารกที่เกิดหลังจากนั้น
ในการศึกษานี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มเพื่อการรับมือวิกฤตการเสพติดสารโอปิออยด์ในสหรัฐฯ
ดร.ไดอานา บิอานคี ผู้อำนวยการสาขาวิจัยสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์ มองว่า การศึกษานี้มีจุดแข็งคือ ความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ และบอกว่า “เราได้ลงทะเบียนทารกแรกเกิดจากรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ เช่น เมืองซู ฟอลส์ รัฐเซาท์ ดาโคตา เมืองแคนซัส ซิตี้ รัฐมิสซูรี และเมืองสปาร์ตันเบิร์ก รัฐเซาท์แคโรไลนา เป็นต้น
ดร.บิอานคี ระบุว่า โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้นำวิธีการใหม่นี้ไปใช้แล้ว และเธอหวังว่า การวิจัยจะนำไปสู่การยอมรับให้มีการใช้งานได้จริงกลุ่มกุมารเวชศาสตร์ต่อไป
รายงานเปิดเผยด้วยว่า นักวิจัยได้ติดตามการเจริญเติบโตของเด็กทารกจนถึงอายุ 3 เดือนและไม่พบว่า มีกรณีที่เด็กต้องเข้ารับการรักษาแบบด่วน หรือเข้าห้องฉุกเฉิน หรือการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นจากปกติ ซึ่งเป็นข้อมูลยืนยันความปลอดภัยจากการลดระยะเวลาในการอยู่ที่โรงพยาบาลของทารกแรกเกิดเป็นอย่างดี
แพทย์หญิงเลสลี ยัง จากโรงพยาบาลเด็ก ณ University of Vermont ได้ชี้ว่า วิธีการนี้ดูแลแม่และเด็กนี้อาจนำไปสู่ "การประหยัดทรัพยากรอย่างมหาศาล” ของโรงพยาบาลได้ด้วย แม้จะยังไม่มีการประเมินตัวเลขของค่าใช้จ่ายออกมาก็ตาม
แพทย์หญิงยัง กล่าวว่า นักวิจัยวางแผนที่จะติดตามเด็กทารกกลุ่มนี้ไปจนถึงอายุ 2 ปี เพื่อเฝ้าระวังดูสุขภาพของพวกเขา ขณะที่ บรรดาคุณแม่ก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมด้วย เพราะ “เป็นครั้งแรกที่พวกเธอรู้สึกว่า บทบาทของการเป็นแม่นั้นมีคุณค่ายิ่ง และทำให้ตัวเองรู้สึกสำคัญจริง ๆ”
นักวิจัยท่านนี้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “เรารู้ดีว่า ช่วงเวลาครั้งแรกของแม่และเด็ก[ที่จะอยู่ด้วยกันนั้น]มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน"
- ที่มา: เอพี