การศึกษาครั้งใหม่ชี้ให้เห็นว่า แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย (California Condor) เพศเมียสามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้มาผสมพันธุ์
นักวิจัยจากสวนสัตว์ San Diego Zoo Wildlife Alliance กล่าวว่า การทดสอบทางพันธุกรรมยืนยันการค้นพบนี้ โดยการทดสอบดังกล่าวพบว่าลูกของแร้งพันธุ์นี้ซึ่งเป็นเพศผู้สองตัวที่ฟักออกมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ในปี 2001 และ 2004 มีความเกี่ยวพันทางพันธุกรรมกับแม่นก แต่ไม่มีลูกนกตัวไหนที่มีความเกี่ยวพันกับนกตัวผู้เลย
การศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในวารสาร Journal of Heredity ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในนกแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย
ทั้งนี้ การจากสืบพันธุ์จากไข่ที่ไม่มีเชื้อของตัวผู้มาผสมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น ฉลามและผึ้ง
แต่สำหรับนก มักเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่นกตัวเมียไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ กับนกตัวผู้ แต่ในกรณีนี้แม่นกแร้งสองตัวในการศึกษาวิจัยนี้เคยผสมพันธุ์กับนกตัวผู้มาก่อนแล้ว และเคยให้กำเนิดลูกนก 34 ตัว นอกจากนี้พวกมันยังอยู่กับนกแร้งตัวผู้ที่แข็งแรงในสวนสัตว์ แต่กลับออกไข่ที่ไม่มีเชื้อของตัวผู้อยู่เลย
นักวิจัยเชื่อว่า นี่เป็นกรณีแรกของการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในนกทุกสายพันธุ์ ในขณะที่ตัวเมียยังอยู่ใกล้ ๆ กับคู่ของพวกมัน
Olivia Ryder ผู้อำนวยการฝ่ายพันธุศาสตร์ของสวนสัตว์ San Diego Zoo Wildlife Alliance ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้ กล่าวว่า การค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าการสืบพันธุ์แบบนี้เกิดขึ้นในสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ด้วยหรือไม่
สมาพันธ์สัตว์ป่าที่ไม่แสวงหาผลกำไรนี้เป็นผู้ดูแลสวนสัตว์ San Diego Zoo และ Safari Park ซึ่งเข้าร่วมโครงการขยายพันธุ์แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย เพื่อช่วยนกขนาดใหญ่นี้จากการสูญพันธุ์
แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียถือเป็นนกบินได้ขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ พวกมันเคยถูกพบเห็นได้ทั่วชายฝั่งตะวันตก แต่มีเพียง 22 ตัวเท่านั้นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในทศวรรษ 1980 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ จับแร้งคอนดอร์ไปไว้ในสวนสัตว์เพื่อการขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
โดยนกแร้งราว 160 ตัวได้รับการเลี้ยงดูที่สวนสัตว์ San Diego Zoo และ Safari Park
ปัจจุบัน มีแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียมากกว่า 500 ตัว ซึ่งรวมถึงแร้งกว่า 300 ตัวที่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติในแคลิฟอร์เนีย แอริโซนา ยูทาห์ และเม็กซิโก
ทั้งนี้ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศถูกค้นพบเมื่อหลายปีก่อน การทดสอบสารพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมจากนกแร้งทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ตายไปแล้ว ในโครงการขยายพันธุ์พันธุ์และในป่าดูเหมือนจะยืนยันผลของการศึกษานี้
การศึกษาดังกล่าวได้ทดสอบแร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียเพศผู้ 467 ตัว เพื่อค้นหาว่าพวกมันมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับนกแร้งสองตัวในการทดลองหรือไม่ และนักวิจัยไม่พบว่ามีการเชื่อมโยงทางพันธุกรรมใด ๆ เลย
อย่างไรก็ดี แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนียสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 60 ปี แต่นกเพศผู้สองตัวที่ฟักออกมาในปี 2001 และ 2004 นั้นไม่แข็งแรง ตัวหนึ่งตายลงตอนอายุไม่ถึง 2 ปี ส่วนอีกตัวหนึ่งมีชีวิตอยู่ไม่ถึง 8 ปี
- ที่มา: The Associated Press