ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยเผยความน่าจะเป็นในการปลุกชีพผู้ที่เสียชีวิตได้ในอนาคต


File Photo: A pig, nearing market weight, stands in a pen at Duncan Farms in Polo, Illinois, U.S. on April 9, 2018. (REUTERS/Daniel Acker)
File Photo: A pig, nearing market weight, stands in a pen at Duncan Farms in Polo, Illinois, U.S. on April 9, 2018. (REUTERS/Daniel Acker)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยกลุ่มหนึ่งทำการทดลองกับเนื้อเยื่อจากหมู ที่แสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถช่วยรักษาเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตไว้ได้ดีพอจะเอื้อให้เซลล์ต่าง ๆ กลับฟื้นคืนชีพกลับมาทำงานได้ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังความตายได้แล้ว

การศึกษาดังกล่าวซึ่งเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับเมื่อไม่นานมานี้เป็นผลงานทำขึ้นโดยคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐฯ

นักวิจัยชี้ว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการทดลองของพวกเขาสามารถช่วยเพิ่มจำนวนอวัยวะที่มีไว้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะได้

ในการทดลองนี้ นักวิจัยได้ทำให้หัวใจของหมูหลายตัวหยุดเต้น และหลังจากที่ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง หมูเหล่านั้นจะถูกนำไปเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์พิเศษที่ใช้ในการสูบฉีดสิ่งทดแทนเลือดผ่านร่างกายของพวกมัน โดยสิ่งทดแทนที่ว่านี้เป็นของเหลวซึ่งประกอบด้วยเลือดและสารเคมีประมาณ 13 ชนิดที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ และลดอาการอักเสบไปด้วย

และหลังเวลาผ่านไปหกชั่วโมง ทีมงานพบว่า การรักษาดังกล่าวได้ช่วงลด หรือกระทั่งแก้ไขความเสียหายบางส่วนที่เกิดจากภาวะขาดออกซิเจนเมื่อหัวใจหยุดสูบฉีดเลือด ตัวอย่างเช่น การลดลงของอาการอักเสบของอวัยวะและหลอดเลือดที่ยุบตัว

นักวิจัยเรียกการรักษานี้ว่า ออร์แกนเน็กซ์ (OrganEx)

ซโวนิเมียร์ เวอร์เซลยา (Zvonimir Vrselja) หนึ่งในผู้เขียนรายงานการศึกษานี้จากมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าเมื่อหัวใจหยุดเต้น ร่างกายจะไม่ได้ตายสนิทอย่างที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ และว่า นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถกระตุ้นเซลล์ให้ฟื้นคืนชีพได้

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาพันธุกรรมของเนื้อเยื่อยังบ่งชี้ว่า กระบวนการซ่อมแซมเซลล์จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดของเลือดอีกครั้ง

นักวิจัยกล่าวด้วยว่า ในระหว่างการทดลองดังกล่าว ไม่ได้มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่ามีคลื่นไฟฟ้าในสมองของหมูเลย

ทีมวิจัยหวังว่า OrganEx จะช่วยให้แพทย์สามารถนำอวัยวะที่ได้จากผู้บริจาคที่มีอาการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรงซึ่งไม่สามารถฟื้นตัวได้หลังจากการถอดเครื่องช่วยหายใจแล้วมาใช้ได้มากขึ้น โดยเป้าหมายของนักวิจัย คือ การป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะหลังจากที่เลือดหยุดไหลเวียนแล้ว

Pig kidney transplant success.
Pig kidney transplant success.

ปัจจุบัน อวัยวะที่นำมาจากผู้บริจาคที่สมองหยุดทำงานซึ่งถูกถอดเครื่องช่วยหายใจไปแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้ดีเหมือนกับอวัยวะที่นำมาจากผู้บริจาคที่ระบบเลือดยังหมุนเวียนอยู่

อย่างไรก็ตาม การใช้ OrganEx กับอวัยวะของมนุษย์นั้น อาจยังต้องรออีกหลายปี

สตีเฟน แลแธม (Stephen Latham) ผู้อำนวยการศูนย์สหวิทยาการด้านจริยธรรมของมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ “ไม่ได้บ่งชี้ว่า อวัยวะนั้นสามารถได้รับการฟื้นฟูคืนสู่ระดับที่สามารถทำงานได้” มากพอที่จะให้บุคคลหนึ่ง ๆ กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

ผู้สังเกตการณ์บางคนแนะนำว่า ในทางทฤษฎี แล้วเทคโนโลยีนี้น่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนที่เพิ่งเสียชีวิตฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง

แต่ แลแธม กล่าวว่า การที่จะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมอีกมากมาย และว่า ต้องมีการคิดด้วยว่า ผู้ป่วยนั้น ๆ ต้องอยู่ในสภาพใดถึงสมควรจะใช้เทคโนโลยีเพื่อการฟื้นคืนชีพดังว่าได้

เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การใช้ OrganEx ในการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นเป้าหมายที่ดูสมจริงมากกว่า และยิ่งไปกว่านั้น ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะใช้ OrganEx ในการรักษาผู้ป่วยได้

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG