ผลการวิจัยพบว่าตามเเนวชาวฝั่งของเกาะ Isle of Wight ในอังกฤษ เเม้แต่ก้อนหินก้อนมหึมาก็ยังโดนเเรงพายุกระหน่ำจนเคลื่อนย้ายจุดที่ตั้ง
ลินลี่ย์ เฮสท์เวล นักวิจัยปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งพอร์ทสมัท กล่าวว่า ก้อนหินเหล่านี้เป็นเเนวกั้นมรสุมตามธรรมชาติที่ช่วยลดความเเรงของมรสุมที่พัดเข้าฝั่ง ป้องกันความเสียหายเเก่แผ่นดิน แต่พื้นที่เเนวชายฝั่งถูกกัดเซาะเพราะก้อนหินขนาดใหญ่สามก้อนถูกเเรงลมพัดจนค่อยๆ เคลื่อนย้าย นี่ทำให้ความเสี่ยงต่อการกัดเซาะของเเนวชายฝั่งสูงขึ้น
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งพอร์ทสมัทในอังกฤษได้เฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายตัวของก้อนหินเหล่านี้ โดยใช้เทคโนโลยีคลื่นวิทยุที่ทีมงานฝังไว้ในก้อนหินมากกว่าร้อยก้อน
ทีมงานชี้ว่า ผลการวิจัยที่ได้สร้างความแปลกใจอย่างมาก เฮสท์เวล นักวิจัยกล่าวว่า ก้อนหินก้อนหนึ่งที่ใหญ่มากน้ำหนักราว 10 ตัน น่าจะหนักเท่ากับรถยนต์เเบบครอบครัว 3-4 คันรวมกัน ถูกเเรงมรสุมพัดเเละเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมที่ขอบของเเนวชาวฝั่งมายังจุดใหม่ที่ห่างกันถึง 10 เมตร ซึ่งน่าทึ่งมาก เพราะบริเวณนี้หากดูเเนวคลื่นเเล้วถือว่าเป็นจุดหลบคลื่นที่ดีทีเดียว เเต่เเม้กระนั้น หินก้อนมหึมายังถูกเเรงคลื่นพัดจนย้ายจุด
ทีมนักวิจัยชี้ว่า การศึกษาของพวกเขาอาจช่วยพยากรณ์ได้ถึงอนาคตของชุมชนตามเเนวชายฝั่งต่างๆ ทั่วโลก
เฮสท์เวล กล่าวว่า เราได้เห็นชัดเจนเเล้วว่าภาวะโลกร้อนทำให้พายุมีความเเรงมากขึ้นเเละเกิดบ่อยขึ้น และจะสร้างผลเสียมากขึ้น
หากเราเข้าใจมากขึ้นว่าพื้นที่แนวชายฝั่งตอบสนองต่อมรสุมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้อย่างไร เราอาจจะสามารถคาดเดาได้ชัดเจนมากขึ้นว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)