บริษัท SpaceX (สเปซเอ็กซ์) ของมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ปล่อยดาวเทียมชุดล่าสุดเข้าสู่ห้วงอวกาศ ตามแผนงานธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่หวังส่งดาวเทียมอีกมากมายขึ้นโคจรรอบโลกภายใน 1 ปี
ยานอวกาศ SpaceX Falcon 9 ของบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้ ถูกปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศ จากสถานีของกองทัพอากาศ ณ แหลมคาแนเวอรัล (Cape Canaveral) มลรัฐฟลอริด้า เมื่อเวลา 9 นาฬิกา ของเช้าวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยมีภารกิจหลักคือการส่งดาวเทียมชุดที่ 4 จำนวนราว 60 ดวงขึ้นสู่วงโคจร
ดาวเทียมชุดล่าสุดของ SpaceX ที่เดินทางขึ้นสู่ห้วงอวกาศนี้ จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายดาวเทียมของบริษัทจำนวนกว่า 170 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกแล้วในขณะนี้ โดยบริษัทมีแผนจะส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศอีกอย่างน้อย 22 ครั้งตลอดปี 2020 เพื่อช่วงเสริมสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของตน ซึ่งตั้งชื่อไว้ว่า Starlink (สตาร์ลิงค์) ผ่านดาวเทียมไม่น้อยกว่า 1,500 ดวงตามแผนงานธุรกิจที่วางไว้
ปัจจุบัน SpaceX มีใบอนุญาตเพื่อปล่อยดาวเทียมกว่า 10,000 ดวงอยู่ในมือ และมีแผนจะขอใบอนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถปล่อยเพิ่มอีก 30,000 ดวง โดยมีจุดประสงค์ที่จะใช้ดาวเทียมทั้งหมดในการให้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูก ให้กับผู้ใช้งานในสหรัฐฯ และแคนาดา ภายในปี 2020 ก่อนจะขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงราคาถูกนี้ไปยังทั่วโลก อันรวมถึงพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้
นายมัสก์ ผู้บริหาร SpaceX ประเมินว่า หากแผนงานนี้สำเร็จ รายได้ของบริษัท จะเพิ่มขึ้นปีละหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโอกาสความสำเร็จและความเสี่ยงของแผนธุรกิจนี้ ซึ่งมีทั้งต้นทุนการสร้างและการปล่อยดาวเทียมที่คาดว่าจะสูงถึงราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และการสร้างสถานีงาน หรือ Terminal ที่มีความซับซ้อนแต่ราคาไม่สูงให้กับผู้ใช้งาน
ยิ่งไปกว่านั้น นักดาราศาสตร์ยังกังวลว่า ระดับความสูงของวงโคจรของดาวเทียมของ SpaceX อาจบดบังการดูกลุ่มดาวในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งทางบริษัทกำลังเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อยู่
นอกจาก SpaceX แล้ว บริษัทคู่แข่ง และธุรกิจ Start-up อีกหลายแห่งก็มีแผนที่จะปล่อยดาวเทียมซึ่งรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าหลายหมื่นดวงเข้าสู่วงโคจรรอบโลก ภายในช่วงทศวรรษหน้า ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ดาวเทียมเหล่านี้จะโคจรมาปะทะกันเอง และข้อสงสัยว่า หน่วยงานผู้กับกับดูแลจะสามารถควบคุมแผนพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร