ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศอาเซียนเตรียมเริ่มประชุมกับจีนเพื่อร่าง ‘กรอบปฏิบัติ’ ทะเลจีนใต้ปีหน้า


In this Jan. 22, 2017, photo provided by U.S. Navy, the USS John S. McCain conducts a patrol in the South China Sea while supporting security efforts in the region.
In this Jan. 22, 2017, photo provided by U.S. Navy, the USS John S. McCain conducts a patrol in the South China Sea while supporting security efforts in the region.

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการเจรจานี้ไม่น่าจะแตะประเด็นที่อ่อนไหวต่อจีน

ประเทศสมาชิกสมาคม ASEAN แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นพ้องกับจีนในเดือนนี้ว่า ควรมีการเริ่มเจรจาเรื่องกรอบปฏิบัติหรือ code of conduct ในกรณีความขัดแย้งด้านอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้

กรอบปฏิบัตินี้จะถูกใช้เป็นแนวทางอ้างอิงสำหรับการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ที่อาจบานปลายในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกับหลายประเทศใน ASEAN เป็นคู่กรณีกัน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การเจรจานี้ไม่น่าจะนำมาซึ่ง code of conduct ที่แตะประเด็นที่จีนเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

รัฐบาลกรุงปักกิ่งอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนร้อยละ 90 จากชายฝั่งของจีนลงมาถึงเกาะบอร์เนียว การอ้างดังกล่าวพร้อมด้วยโครงการก่อสร้างของจีนในทะเลจีนใต้ สร้างความกังวลต่อคู่กรณีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จีนมีท่าทีแข็งขันในจุดยืนของตน และขณะเดียวกันได้เพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจในประเทศคู่กรณี เหมือนเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนมีโครงการในประเทศคู่กรณีเรื่องทะเลจีนใต้รวมกันมูลค่า 11.2 ล้านล้านดอลลาร์

Jay Batongbacal ผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Maritime Affairs and Law of the Sea ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การเจรจาเรื่องกรอบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ จะให้ความสำคัญกับกระบวนการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าขั้นวิกฤต และการบริหารจัดการวิกฤต

เมื่อประเทศอาเซียนและจีนเห็นตรงกันว่า ควรมีการเริ่มพูดคุยกันเพื่อให้เกิด code of conduct ผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศกำลังศึกษาแง่มุมต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ร่างเอกสารที่ออกมาจะไม่กระทบอำนาจอธิปไตยของประเทศตน

นักวิเคราะห์ Oh Ei Sun จากมหาวิทยาลัยนานยาง ที่ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าไม่มีประเทศใดที่ต้องการเห็นกรอบการปฏิบัติเรื่องทะเลจีนใต้ที่สร้างความเสียเปรียบให้กับตน

ทะเลจีนใต้เป็นแหล่งประมงที่สำคัญและเป็นรายได้ของเรือที่ออกหาปลานับล้านลำ ทะเลดังกล่าวเป็นเส้นทางสัญจรของการเดินทางทางเรือหนึ่งในสามของโลก นั่นยังไม่รวมถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง

Collin Koh แห่ง Nanyang Technological University ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า code of conduct ที่จะเกิดขึ้นไม่น่ามีผลบังคับด้านกฎหมาย เขากล่าวว่าหากพิจารณาถึงเอกสารในอดีตคือ China-Southeast Asia Declaration of Conduct เมื่อ 15 ปีก่อน เนื้อหาของกรอบปฏิบัติเป็นเรื่องการหาทางออกให้กับความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติ การแจ้งเตือนเรื่องการซ้อมรบทางทหาร และการดูแลผู้ประสบทุกข์เข็ญ

สิ่งที่ code of conduct น่าจะหยิบมาเป็นแนวทางคือ ช่องทางการติดต่อสื่อสารสายด่วนของกระทรวงต่างประเทศของคู่กรณีรายต่างๆ หากเกิดปัญหาขึ้น

อย่างไรก็ตาม รศ. Alan Chong แห่งสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies ที่สิงคโปร์ บอกว่ากรอบปฏิบัตินี้ซึ่งน่าจะเริ่มการเจรจาปีหน้าและลงนามภายในหนึ่งปี คงจะเป็นแนวทางทางพฤตินัยให้จีนยอมรับเขตแดนที่เป็นอยู่

เขาเชื่อว่าจีนน่าจะยอมรับได้ หากร่างเอกสารเปิดช่องให้จีนสามารถอ้างสิทธิ์ทางนิตินัยด้านต่างๆ ในทะเลจีนใต้ได้ต่อไป

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)

XS
SM
MD
LG