ในการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในช่วงสุดสัปดาห์ ประเทศสมาชิกของอาเซียนซึ่งมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีนไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับจีนโดยตรง และนักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าอาเซียนตัดสินใจให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดการกับปัญหาโควิด-19 มากกว่า
ทะเลจีนใต้นอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญแล้วยังเป็นพื้นที่การประมงรวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานใต้ทะเลอย่างมหาศาลอีกด้วยและขณะนี้มีสมาชิกของสมาคมอาเซียนสี่ประเทศคือบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์รวมทั้งเวียดนามซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในจุดต่างๆ ของทะเลจีนใต้อยู่กับจีน
อย่างไรก็ตามสำหรับการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลง การหาหรือส่วนใหญ่ระหว่างอาเซียนกับจีนดูจะมุ่งเน้นเรื่องการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP รวมทั้งเรื่องการรับมือในระดับระหว่างประเทศของจีนต่อวิกฤติโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่โดยไม่มีประเทศใดที่มีข้อเสนอใหม่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างจริงจัง
และนายกรัฐมนตรี Nguyen Xuan Phuc ของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ก็กล่าวถึงเรื่องทะเลจีนใต้แบบผ่านๆ ในการประชุมร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนโดยระบุแต่เพียงว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายซึ่งหารือเรื่องสถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสำคัญของการทำให้อาณาบริเวณทะเลจีนตะวันออกเป็นท้องทะเลที่มีสันติภาพและความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีความร่วมมือซึ่งกันและกัน
นักวิเคราะห์บางคนอย่างเช่นคุณ Oh Ei Sun จากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ชี้ว่าท่ามกลางความยินดีเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ตนคิดว่าไม่มีใครอยากทำให้บรรยากาศดังกล่าวต้องเสียไปด้วยเรื่องทะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตามรองศาสตราจารย์Stephen Nagy จากมหาวิทยาลัย International Christian University ที่กรุงโตเกียวมองว่าการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่แต่ละเลยการพูดถึงเรื่องทะเลจีนใต้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณจากสมาคมอาเซียนถึงจีนว่าการค้ามีความสำคัญมากกว่าเรื่องความมั่นคงทางทะเลและนักวิเคราะห์คนอื่นๆ ก็เชื่อว่าความไม่คืบหน้าเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ปีนี้จะยิ่งสร้างปัญหากดดันต่อทุกประเทศในการเจรจาเพื่อลงนามในเอกสารแนวทางปฎิบัติในทะเลจีนใต้หรือ Code of Conduct ภายในปีหน้าด้วย
จีนกับสมาคมอาเซียนได้หารือเรื่อง Code of Conduct นี้มาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์กระทบกระทั่งที่ไม่คาดฝันในทะเลแต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่คืบหน้าและเพิ่งกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในปี 2559 หลังจากที่จีนแพ้คดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจากคำร้องของฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จีนกับอาเซียนยังตกลงกันไม่ได้ว่าพื้นที่ส่วนใดของทะเลจีนใต้ซึ่งมีอาณาบริเวณถึง 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรนั้นจะอยู่ภายใต้ข้อตกลง Code of Conduct ที่ว่านี้และใครจะเป็นผู้บังคับใช้ระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจีนกับอาเซียนลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ได้แล้วก็มีโอกาสว่าแต่ละฝ่ายอาจจะนำข้อตกลงไปบังคับใช้แตกต่างกันทั้งนี้ตามความเห็นของอาจารย์Alexander Vuving จากศูนย์ศึกษาเรื่องความมั่นคงDaniel K. Inouye ในรัฐฮาวาย
ส่วนอาจารย์ Stephen Nagy จากมหาวิทยาลัยInternational Christian University ในกรุงโตเกียวก็เชื่อว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับอาเซียนที่จะให้ความสำคัญกับข้อพิพาททะเลจีนใต้มากกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนอีกครั้ง นอกจากนั้นคุณ Oh Ei Sun จากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ก็เสริมว่าขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนเลือกที่จะเก็บประเด็นข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้เอาไว้ก่อนเพื่อรอดูท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปีหน้าก่อน