รายงานเรื่อง “Stitches to Riches” ระบุว่า ประเทศในเอเชียตะวันออก อย่างเวียดนามกับกัมพูชา ดึงส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น เร็วกว่าหลายประเทศในเอเชียใต้ อย่างอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถานและศรีลังกา
แต่ต้นทุนที่ต่ำกว่า และการมีเเรงงานวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ช่วยให้ประเทศในเอเชียใต้เหล่านี้สามารถขยายอุตสาหกรรมด้านนี้ได้
การขยายอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องเเต่งกายในเอเชียใต้ มีความสำคัญมากต่อภูมิภาคนี้ ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสทำงานน้อยมากจนน่าเป็นห่วง
นาย Onno Ruhl ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศอินเดีย กล่าวว่า การขยายตัวด้านนี้จะมีผลดีต่อหลายๆ ประเทศ รวมทั้งอินเดีย ที่ผู้หญิงมีงานทำน้อยลงในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เขากล่าวว่าธนาคารโลกอยากให้ระดับการจ้างงานเเรงงานหญิงในอินเดียเพิ่มขึ้น
รายงานของธนาคารโลกยังชี้ด้วยว่า ในประเทศที่ผู้หญิงมีงานทำสูงกว่า จะพบว่ามีการเเต่งงานช้าลง มีลูกน้อยลง มีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น และระดับการเรียนหนังสือในโรงเรียนสูงขึ้น ตลอดจนมีระดับจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเเละเครื่องแต่งกาย ค่าจ้างเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยอยู่ที่ระดับครึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงในบังคลาเทศ และหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐต่อชั่วโมงในอินเดีย ซึ่งน้อยกว่าระดับสองดอลล่าร์ครึ่งต่อชั่วโมงในจีน
แต่เเม้ว่างานในโรงงานผลิตเครื่องแต่งกายจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในภูมิภาคนี้ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานและความปลอดภัย ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกวิจารณ์
เหตุอาคารเเปดชั้น Rana Plaza ถล่มในบังคลาเทศเมื่อปี ค.ศ. 2013 ทำให้คนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าเสียชีวิตกว่า 1,100 คน และทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัยในโรงงานผลิตเสื้อผ้าได้รับความสนใจ
นาน Rob Wayss ผู้เชี่ยวชาญแห่งหน่วยงาน Bangladesh Accord on Fire and Building Safety กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้จะไม่เติบโตอย่างเต็มที่ หากขาดความพยายามในการปรับปรุงด้านความปลอดภัยของโรงงานต่างๆ
เขากล่าวว่า อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะไม่มีทางเติบโตในบังคลาเทศและในประเทศอื่นๆ ในเอเชียใต้ หากขาดการใส่ใจอย่างจริงจังต่อความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัย
เขาชี้ว่าบรรดาบริษัทเจ้าของยี่ห้อและผู้ค้าปลีกระดับโลก ต่างใส่ใจต่อความปลอดภัยและสภาพของโรงงานของตน
ผลการศึกษาของธนาคารโลกชิ้นนี้ ยังได้เน้นย้ำความจำเป็นในการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น การเพิ่มค่าจ้างแรงงานและคุณภาพสินค้า
นาย Ruhl ผู้อำนวยการธนาคารประจำประเทศอินเดีย กล่าวว่า ยังเร่งเร้าอินเดียให้ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ และให้ขยายขนาดของธุรกิจจากอุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)