ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แอฟริกาใต้เอาจริง ห้ามเพาะพันธุ์สิงโต ‘เหยื่อฆ่าเล่น – ขายกระดูกทำยา’


สิงโตที่อยู่ในพื้นที่พิทักษ์สัตว์ LIONSROCK Big Cat Sanctuary
สิงโตที่อยู่ในพื้นที่พิทักษ์สัตว์ LIONSROCK Big Cat Sanctuary

ชีวิตของสิงโตในแอฟริกาใต้บางส่วน ถูกเพาะพันธุ์และเลี้ยงดูเพื่อนำมาใช้เป็น “เหยื่อ” ตอบสนอง “กิจกรรมนักล่า” ผู้ที่สนใจจะจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์ เพื่อคร่าชีวิตของพวกมันด้วยกระสุนปืน โดยสิงโตเหล่านี้จะไม่มีทางหนีเอาตัวรอดได้

ควาซิกเวนโคซี่ นยาธี จากองค์กรพิทักษ์สัตว์ LIONSROCK Big Cat Sanctuary
Kwazikwenkosi “Excellent” Nyathi, LIONSROCK Big Cat Sanctuary

ควาซิกเวนโคซี่ นยาธี จากองค์กรพิทักษ์สัตว์ ไลออนส์ร็อค บิ๊ก แคท แซงชัวรี (LIONSROCK Big Cat Sanctuary) ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า “สิงโตถูกเลี้ยง พวกมันใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่รู้ว่าในวันนั้นจะต้องถูกฆ่า พวกเขาจะใช้เนื้อเป็นเหยื่อล่อสิงโตเข้ามาใกล้ จากนั้นจะหยิบปืนออกมายิง แล้วก็โพสท่าถ่ายรูป (ร่วมกับซากสิงโต) เพื่อเอาไปโชว์บนโซเชียลมีเดีย”

เหล่าสิงโตที่อยู่ในพื้นที่พิทักษ์สัตว์ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่โชคดี โดยพวกมันถูกย้ายออกมาจากศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ ที่ ๆ จะได้รับอาหารและถูกเลี้ยงดูอย่างดี

ข้อมูลของภาครัฐชี้ว่า แอฟริกาใต้มีประชากรสิงโตที่ถูกเพาะพันธุ์มากที่สุดในโลก ที่ประมาณ 8,000 ตัว แต่ข้อมูลจากองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านั้นและสูงกว่าเกือบ 3 เท่าของจำนวนสิงโตที่พบได้ตามธรรมชาติ

ฟิโอน่า ไมล์ ผู้อำนวยการ LIONSROCK และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสวัสดิภาพสัตว์ โฟร์ พอวส์ เซาธ์ แอฟริกา (Four Paws South Africa) มองว่า อุตสาหกรรมเพาะพันธุ์สิงโต เป็น “วงจรที่เลวร้าย”

ฟิโอน่า ไมล์ ผู้อำนวยการ LIONSROCK และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสวัสดิภาพสัตว์ Four Paws South Africa
ฟิโอน่า ไมล์ ผู้อำนวยการ LIONSROCK และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสวัสดิภาพสัตว์ Four Paws South Africa

เธออธิบายว่า “เหล่าสิงโตถูกเพาะพันธุ์อย่างจริงจังราวกับเป็นโรงงาน สิงโตตัวเมียถูกบังคับให้ผสมพันธุ์ หลังคลอดออกมา ลูกสิงโตจะถูกพรากไปอย่างรวดเร็ว แขกที่จ่ายเงินมาเยี่ยมชมก็จะได้เล่นโต้ตอบกับลูกสิงโตเหล่านี้”

สิงโตจากการเพาะพันธุ์จะถูกนำไปใช้สำหรับการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่จำกัด ซึ่งสิงโตจะไม่สามารถหลบหนีได้ นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “กระดูกสิงโต” โดยอ้างว่า มีสรรพคุณตามความเชื่อของแพทย์แผนจีน แม้ว่าแอฟริกาใต้ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกซากกระดูกสิงโตมาตั้งแต่ปี 2019 แล้วก็ตาม

ซากกระดูกสิงโต
ซากกระดูกสิงโต

ในปี 2015 สารคดีเรื่อง บลัด ไลออนส์ (Blood Lions) เผยถึงด้านมืด ทั้งสภาพการเลี้ยงดูที่ย่ำแย่ และสถานที่สุดแสนจะสกปรก จนนานาชาติประณามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังทำให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องทำการสอบสวนเพื่อยุติอุตสาหกรรมดังกล่าวและจัดตั้งคณะทำงานรัฐมนตรีดูแลประเด็นนี้

เมื่อเดือนมีนาคม คณะรัฐมนตรีแอฟริกาใต้ได้ประกาศยุติการเพาะพันธุ์สิงโต ภายใต้กรอบปฏิบัติเป็นเวลาราวสองปี โดยจะให้ผู้เพาะพันธุ์สิงโตในศูนย์จำนวน 342 แห่งทั่วประเทศยุติการกระทำโดยความสมัครใจและจะมีการออกกฎบังคับใช้ชั่วคราวในระหว่างนี้

ในการนี้ ผู้เพาะพันธุ์ต้องเริ่มทำหมันให้กับสิงโต และเดินหน้าลดจำนวนสิงโตด้วยการนำไปเป็นเหยื่อในการถูกล่าหรือกระทำการุณยฆาต ส่วนซากกระดูกสิงโตนั้นจะต้องถูกนำไปเผาทิ้งป้องกันการลักลอบส่งออกไปยังต่างประเทศ

สิงโตที่ใช้ชีวิตอยู่ใน LIONSROCK Big Cat Sanctuary
สิงโตที่ใช้ชีวิตอยู่ใน LIONSROCK Big Cat Sanctuary

เมื่อสิ้นสุดกรอบเวลาสองปี หลังจากอนุญาตให้กลุ่มผู้เพาะพันธุ์ยุติการกระทำโดยความสมัครใจ สิงโตที่เหลืออยู่จะถูกย้ายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งพวกมันสามารถมีชีวิตใหม่และก้าวออกมาจากวงจรที่ไร้มนุษยธรรม

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG