ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นัยยะของเสือขาว “ซูโฮรัง” มาสก็อตสุดน่ารักแห่งโอลิมปิกฤดูหนาว 2018


25일 강릉 올림픽 선추촌에 2018 평창올림픽 마스코트인 수호랑 동상이 서 있다.
25일 강릉 올림픽 선추촌에 2018 평창올림픽 마스코트인 수호랑 동상이 서 있다.

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองพย็องชาง เกาหลีใต้ ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่ถูกจับตาตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิก นั่นคือ เสือขาว “ซูโฮรัง” ที่นอกจากมาพร้อมกับความน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว ยังสอดแทรกด้วยนัยยะที่น่าสนใจของเกาหลีใต้เอาไว้ด้วย

เสือขาว “ซูโฮรัง” ถูกคัดสรรให้เป็นมาสก็อต หรือ ตัวนำโชค ประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปีนี้ โดยเสือตามตำนานเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโชซอนของเกาหลี คือ สัญลักษณ์ของผู้คุ้มครองปกป้องจากภัยอันตราย และยังสื่อถึงความซื่อสัตย์และความแข็งแกร่ง ขณะที่ชื่อของซูโฮรัง ในภาษาเกาหลี มาจากคำว่า “ซูโฮ” หมายถึง การปกป้อง และ “รัง” ที่แปลว่า เสือ ในภาษาเกาหลี

ในรายงานของนิตยสารไทม์ เปิดเผยว่า เมื่อรวมทั้งชื่อและตัวมาสก็อตของโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้เข้าด้วยกัน จะสื่อถึงการปกป้องคุ้มครองทัพนักกีฬา ผู้ชม และผู้ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ทุกคน ในฐานะเจ้าภาพ

ด้านนัยยะของเสือในศตวรรษที่ 20 นั้น คือ การสร้างความภูมิใจในความเป็นเกาหลี และปลูกฝังค่านิยมความเป็นเกาหลีในหัวใจของคนรุ่นใหม่ โดยนักประวัติศาสตร์ Joseph Seeley อ้างอิงข้อมูลประวัติศาสตร์เมื่อปี 2451 ที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น ที่ระบุว่า ชาวเกาหลีเปรียบเทียบแผนที่ของคาบสมุทรเกาหลีเหมือนกับรูปของเสือ ที่เกรี้ยวกราดและแข็งแกร่งกว่าสัตว์ชนิดใดๆบนโลก

ขณะที่ในแง่เศรษฐกิจ เสือเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง และทันสมัยของเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั่นเอง

ความนิยมในตัวเสือของเกาหลีใต้มีอย่างเข้มข้น โดยก่อนหน้านี้ มาสก็อตประจำโอลิมปิก ที่กรุงโซล เมื่อปี 2531 คือเจ้า “โฮโดริ” ซึ่งเป็นเสือสีส้ม แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกับ เจ้าเสือโทนี ที่เป็นสัญลักษณ์ของอาหารเช้าชื่อดังของสหรัฐฯ และเกือบจะทำให้มาสก็อตตัวนี้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ฐานละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว

เสือสีส้ม Hodori มาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2531
เสือสีส้ม Hodori มาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2531

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสือคือสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของชาวเกาหลี แต่ปัจจุบัน กลับไม่พบรายงานการพบเห็นเสือตัวเป็นๆในเกาหลีใต้แต่อย่างใด มีเพียงบันทึกการพบเห็นล่าสุด คือ ที่เมืองกย็องจู เมื่อปี 2464 โดยปัญหาสำคัญ คือ การล่าเสือเพื่อส่งออกกระดูกไปใช้ในทางการแพทย์ทางเลือก เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้ในปี 2536 รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกกฎหมายห้ามล่าสัตว์นับแต่นั้น ซึ่งความหวังเดียว คือ การขอความร่วมมือจากเกาหลีเหนือ ในการค้นหาเสือที่เหลืออยู่บนคาบสมุทรเกาหลี

นอกจากเสือขาว “ซูโฮรัง” แล้ว ยังมีอีกมาสก็อตสำหรับพาราลิมปิกฤดูหนาว เป็นหมีควายที่มีชื่อว่า “บันดาบิ” ซึ่งเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากคาบสมุทรเกาหลี โดยหมีควายสำหรับชาวเกาหลีแล้ว สื่อถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญ

ที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะเฟ้นหามาสก็อต สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันในแต่ละครั้ง ซึ่งจะต้องเป็นสัตว์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพการแข่งขันด้วย

มาสก็อตประจำโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร
มาสก็อตประจำโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร

ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิก ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2559 มีมาสก็อต วินิเชียสและทอม ซึ่งตั้งชื่อตามศิลปินชื่อดังผู้ล่วงลับของบราซิล วินิเซียส เดอ โมราเอส และทอม โจบิม นักดนตรีชื่อดังของบราซิล แต่ความพิเศษ คือ การผสมผสานสัตว์และพืชนานาชนิดของประเทศจนกลายมาเป็น 2 มาสก็อตแดนแซมบ้า ขณะที่โอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อ 4 ปีก่อน ที่เมืองโซชิ ของรัสเซีย มีมาสก็อต 3 ตัว ได้แก่ หมีขาว กระต่าย และเสือดาวหิมะ ที่เรียกรวมกันว่า โซริส

มาสก็อตประจำโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมือง Sochi
มาสก็อตประจำโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมือง Sochi

สำหรับมาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวอีก 4 ปีข้างหน้า ที่มณฑลเหอเป่ย ของจีนนั้น ยังอยู่ระหว่างการเฟ้นหามาสก็อตสำหรับการแข่งขันกันอยู่ โดยจะประกาศผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับโอลิมปิกฤดูร้อน และในปี 2563 สำหรับมาสก็อตโอลิมปิกฤดูหนาวคราวหน้า

ตารางอันดับเหรียญรางวัล ปารีสเกมส์ 2024

XS
SM
MD
LG