จรวดอวกาศ Delta V เดินทางออกจากพื้นโลกมุ่งหน้าสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 21 พ.ค ภายในจรวดลำนี้บรรทุกยานอวกาศ X-37B ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการลับพิเศษที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทดลองเทคโนโลยีชนิดใหม่
นอกจากนี้จรวด Delta V ยังบรรทุกดาวเทียม CubeSat ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กพอๆกับขนมปังหนึ่งแถว สร้างขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ The Planetary Society เป้าหมายเพื่อทดสอบว่า แสงอาทิตย์จะสามารถนำมาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการเดินทางท่องอวกาศได้หรือไม่
คุณ Bill Nye ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Planetary Society บอกว่าแนวคิดนี้อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงว่า แสงอาทิตย์นั้นแม้จะไม่มีมวล ไร้น้ำหนัก แต่ก็มีโมเมนตัมที่สามารถผลักดันให้วัตถุเคลื่อนที่ได้ และแม้จะเป็นโมเมนตัมที่มีปริมาณน้อยนิด แต่หากใช้ใบเรือขนาดใหญ่พอที่สามารถกักแรงหรือโมเมนตัมจากแสงอาทิตย์ได้ ประกอบกับวัตถุหรือยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักเบามาก ก็มีโอกาสที่ยานพาหนะนั้นจะแล่นไปได้
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วิธีการสร้างแรงขับเคลื่อนแบบใช้ต้นทุนต่ำนี้หากทำได้จริงจะทำให้การสำรวจอวกาศมีคาใช้จ่ายน้อยลงและแพร่หลายยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนต่างๆ ก็จะสามารถจัดตั้งโครงการสำรวจอวกาศได้ง่ายขึ้นด้วย
นักวิทยาศาสตร์ใช้ใบเรือไมลาร์ขนาด 32 ตารางเมตร ความหนาเพียง 1 ใน 4 ของเส้นผมมนุษย์ ในการขับเคลื่อนดาวเทียม CubeSat โดยการทดสอบในห้องทดลองให้ผลน่าพอใจ แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากในการนำมาใช้จริง โดยเฉพาะการทำให้ใบเรือนี้กางออกมาด้วยตัวเองระหว่างล่องลอยอยู่ในอวกาศ
คุณ Bill Nye แห่ง The Planetary Society ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นน่าจะเป็นทางด้านวิศวกรรมมากกว่าด้านฟิสิกส์ คือการทำให้ใบเรือกางออกตามที่ต้องการ
The Planetary Society รายงานว่าเวลานี้ดาวเทียม CubeSat เข้าสู่วงโคจรรอบโลกแล้ว และระบบทุกอย่างยังทำงานได้ดี คาดว่าเมื่อกางใบออกเต็มที่ในช่วงกลางเดือน มิ.ย ตามแผนที่วางไว้ ก็จะพร้อมออกล่องไปในอวกาศด้วยแรงส่งของแสงอาทิตย์ หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าลมสุริยะ ที่จะพาดาวเทียมดวงนี้ลอยเข้าไปในส่วนไกลโพ้นของระบบสุริยจักรวาล
ผู้สื่อข่าว George Putic รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง