วิวัฒนาการในยุคดิจิทัลมีความคืบหน้าต่อเนื่องในทุกด้าน แม้แต่ในเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่คาดว่าจะมาช่วยดูแลสุขภาพของผู้คนได้อย่างทันท่วงทีในอนาคต
ในปัจจุบัน การที่คนเราจะติดต่อแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาสามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าจากยุคก่อนอย่างมากแล้ว แต่ในอนาคต เราอาจจะไม่ต้องแม้แต่เปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อทำการดังกล่าว และเพียงแค่สวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อยเท่านั้น
นั่นเป็นเพราะ นักวิจัยด้านเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สิ่งทอ หรือ Textile Computing กำลังทำการพัฒนาตัวเซ็นเซอร์ที่สามารถนำไปซักทำความสะอาดได้ เพื่อช่วยวัดสัญญาณชีพของผู้สวมใส่
โทนี ชาฮีน ซีอีโอ ของบริษัท ไมยันท์ ซึ่งเป็น ธุรกิจสตาร์ทอัพจากแคนาดาและกำลังทดสอบการผลิตชุดชั้นในที่ทำจากเส้นใยเซ็นเซอร์ชนิดใหม่นี้อยู่ กล่าวว่า เส้นใยที่บริษัทผลิตขึ้นมานั้นทำหน้าที่เป็นตัวเซ็นเซอร์อยู่แล้ว และถูกนำไปถักทอเป็นเนื้อผ้าให้มีลักษณะเฉพาะ เพื่อดักสัญญาณไฟฟ้าจากร่างกายผ่านตัวเส้นใยที่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับ อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ใช้ในโรงพยาบาลนั่นเอง
ขณะเดียวกัน ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ทีมงานวิจัยเพิ่งผลิตเสื้อตัวอย่างซึ่งมีส่วนประกอบเป็นตัวเซ็นเซอร์ที่สามารถนำไปซักล้างได้ทอไว้ในเนื้อผ้าสำเร็จ โดยตัวแทนนักวิจัยบอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า ทีมงานได้ใช้ระบบดิจิทัลทอตัวเซ็นเซอร์เข้ากับตัวผ้าที่ตัดเย็บให้เข้ากับรูปร่าง เพื่อที่ว่าผู้สวมใส่จะรู้สึกสบายตัวและไม่เกิดความรำคาญ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเช่นนี้ นำมาซึ่งการตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับเฉพาะบุคคลที่สามารถนำไปดัดแปลงให้เข้ากับรูปร่างผู้สวมใส่ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เด็กอ่อน
ในด้านของประโยชน์จากวิทยาการนี้ ทั้ง MIT และ ไมยันท์ กล่าวว่า ตัวเซ็นเซอร์นี้จะรวบรวมข้อมูลทางสรีรวิทยาต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ ระบบการหายใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะนำไปใช้สร้างสิ่งที่เหมือนเป็น แผนที่ของร่างกาย ที่นำเสนอรายละเอียดของผู้สวมใส่อย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นเดือนหรือฤดูกาล ที่จะทำให้ทั้งแพทย์และสมาชิกในครอบครัวสามารถรับรู้เกี่ยวกับสภาวะของสุขภาพผู้สวมใส่เสื้อผ้ายุคดิจิทัลนี้ได้ทันท่วงที
ดร.มิโลส พอพโพวิช ผู้อำนวยการด้านงานวิจัย จากสถาบันฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งโตรอนโต (Toronto Rehabilitation Institute) เป็นผู้ทำการทดสอบชุดชั้นในที่บริษัท ไมยันท์ ออกแบบและผลิตมา และกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เริ่มสูงอายุขึ้น
ดร.พอพโพวิช เสริมว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้สามารถนำการรักษาไปหาผู้ป่วยถึงบ้านได้อย่างสะดวก และทำให้ผู้คนไม่ต้องเดินทางออกมาพบแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลและทีมงานที่จะได้ใช้เวลาในการดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ได้มากขึ้น
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์เช่นนี้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ทำให้เราสบายใจได้ว่า การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่อาจต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคม น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลใจอีกแล้ว