การศึกษาวิจัยครั้งใหม่ชี้ให้เห็นว่า โปรแกรมการออกกำลังกายที่แม้ว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ ก็อาจช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำบ้างหรือที่มีอาการไม่รุนแรงได้
ทั้งนี้ แพทย์ได้แนะนำให้บรรดาผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อช่วยให้สมองของพวกเขามีสุขภาพดีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่การศึกษาวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ยาวนานที่สุด กำลังศึกษาว่า การออกกำลังกายช่วยสร้างความแตกต่างเมื่อความจำเริ่มถดถอยลงไปหรือไม่
จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกกำลังกายราว 300 คน มีการเปลี่ยนแปลงด้านความจำที่เรียกว่า ภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย หรือ MCI ซึ่งบางครั้งจะเกิดขึ้นก่อนที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์
ในกลุ่มผู้สูงอายุที่นักวิจัยทำการศึกษานี้ ครึ่งหนึ่งออกกำลังกายแบบแอโรบิค ส่วนที่เหลือก็ยืดเส้นยืดสาย และฝึกความสมดุลซึ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นเล็กน้อย
ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่มได้รับการดูแลจากเทรนเนอร์ที่ทำงานร่วมกับพวกเขาที่ศูนย์เยาวชน YMCA ทั่วสหรัฐฯ และเมื่อสถานออกกำลังกายต้องปิดตัวลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรดาเทรนเนอร์ช่วยดูแลให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาสามารถออกกำลังกายอยู่ที่บ้านผ่านระบบวิดีโอคอล
ลอรา เบเคอร์ (Laura Baker) นักวิจัยที่ Wake Forest School of Medicine ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า หลังจากที่ผ่านไปหนึ่งปี การทดสอบการทำงานของสมองแสดงให้เห็นว่า ไม่มีผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มไหนที่อาการแย่ลง และการสแกนสมองไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการหดตัวที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาความจำที่ย่ำแย่ลง
และเมื่อลองเปรียบเทียบดู ผู้ทำการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเรื่องของสุขภาพสมองในระยะยาว แต่ไม่ได้มีการออกกำลังกาย มีภาวะถดถอยทางด้านการรู้คิดหรือสติปัญญาตลอดระยะเวลาหนึ่งปี
ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ได้มาในช่วงต้นของการศึกษาชิ้นนี้ทำให้หลายฝ่ายค่อนข้างประหลาดใจ แต่สถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติสหรัฐฯ ติงว่า หากมีการติดตามผู้ที่ไม่ออกกำลังกายในการศึกษาเดียวกัน น่าจะให้หลักฐานที่ชัดเจนกว่า
เบเคอร์ กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นด้วยว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีพอเท่านั้นที่จะออกกำลังกายแบบเรียกเหงื่อได้ โดยในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์เมื่อไม่นานมานี้ เธอได้นำเสนอข้อมูลการวิจัยและย้ำว่า “การออกกำลังกายควรเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การป้องกัน” สำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง
ทางด้านมาเรีย คาร์ริลโย (Maria Carrillo) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ของสมาคมอัลไซเมอร์กล่าวว่า การวิจัยครั้งก่อนหน้านี้พบว่า การออกกำลังกายทุกประเภทอย่างสม่ำเสมออาจช่วยลดการอักเสบที่สร้างความเสียหายต่อสมองและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองได้ด้วย
เธอกล่าวเสริมว่า การศึกษาครั้งใหม่นี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ หลังเริ่มการวิจัยไปได้ครึ่งทางก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ซึ่งหมายความว่า บรรดาผู้เข้าร่วมการศึกษาต้องแยกตัวออกจากสังคมหรือผู้อื่น และดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สภาวะดังกล่าวนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาทางด้านความจำของผู้คนอยู่แล้ว
ในการศึกษาของลอรา เบเคอร์ นักวิจัยจาก Wake Forest School of Medicine นั้น ผู้สูงอายุจะต้องเคลื่อนไหวร่างกายสี่ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 30 ถึง 45 นาทีต่อครั้ง โดยจะเป็นการออกกำลังกายบนลู่วิ่งไฟฟ้า หรือ การออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อก็ได้
เบเคอร์ ยังเชื่อด้วยว่า การที่ผู้เข้าร่วมการศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับบรรดาเทรนเนอร์นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้แต่ละคนสามารถออกกำลังกายได้มากกว่า 100 ชั่วโมง
ดั๊ก แมกซ์เวลล์ (Doug Maxwell) จากเมืองเวโรนา รัฐวิสคอนซินซึ่งเข้าร่วมการศึกษานี้พร้อมกับภรรยาของเขากล่าวว่า หากไม่มีเทรนเนอร์แล้ว เขาและภรรยาคงไม่สามารถออกกำลังกายแบบนี้ได้ด้วยตัวเองแน่นอน
สามีภรรยาวัย 81 ปีคู่นี้ถูกกำหนดให้เข้าชั้นเรียนยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งพวกเขารู้สึกดีมาก ๆ หลังการออกกำลังกาย และเมื่อการศึกษาสิ้นสุดลง พวกเขาได้ซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยหวังว่า จะมีกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
นอกเหนือจากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ เบเคอร์ยังเป็นหัวหน้าในการศึกษาพฤติกรรมอีกชิ้นเพื่อดูว่า การเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปในกิจวัตรอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การเล่นเกมฝึกสมอง และกิจกรรมทางสังคม อาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่อยู่ด้วย
- ที่มา: เอพี