องค์การอนามัยโลกจะถือว่าประเทศใดก็ตามที่ขาดการระบาดของเชื้อโปลิโอนานติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปว่าเป็นเขตปลอดโปลิโอ
อย่างไรก็ตาม คนเราอาจจะติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโปลิโอเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่แสดงอาการก็ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อโปลิโอเพียง 1 ใน 400 คนเท่านั้นที่กลายเป็นอัมพาต
คุณ Micaela Martinez-Bakker กล่าวว่าเป็นเรื่องผิดปกติหากพบว่าเด็กทั่วโลกมีแอนติบอดี้ต่อต้านโปลิโอเมื่ออายุครบ 15 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเด็กได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอเข้าสู่ร่างกายแล้วแต่ไม่เกิดอาการป่วย
แต่เด็กในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งอาจจะกลายเป็นพาหะของโรคโปลิโอที่ไม่แสดงอาการป่วยในภายหลังได้
นักวิจัยกล่าวว่าคนที่ได้รับเชื้อโปลิโอ ทั้งคนที่แสดงอาการป่วยและคนที่ไม่แสดงอาการป่วย ล้วนขับเชื้อไวรัสออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นในประเทศที่ระบบสุขาภิบาลยังด้อย ควรมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโปลิโอในระบบกำจัดของเสียและท่อน้ำทิ้งเป็นประจำ
เพราะการติดเชื้อโปลิโอแบบเงียบๆ อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาดของโรครอบใหม่ขึ้นมาได้ทุกเมื่อ
คุณ Martinez-Bakker นักวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า แม้ว่าเชื้อโปลิโออาจจะสาบสูญไปแล้วในบางพื้นที่ของประเทศ แต่เชื้อโปลิโออาจจะแฝงตัวอยู่ในประชากรในพื้นที่บางจุดหรือในบางประเทศได้ และอาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้อีก
จึงควรมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อโปลิโอแบบไม่แสดงอาการป่วยอย่างกว้างขวางในระดับทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)