สว. สหรัฐฯ ออกโรงตั้งคำถามถึงพฤติกรรมการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตของทิคเก็ตมาสเตอร์ (Ticketmaster) บริษัทจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ หลังจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน เว็บไซต์ของบริษัทล่มระหว่างการเปิดขายบัตรล่วงหน้าสำหรับคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ จนทำให้ลูกค้าหลายพันคน “ชวดบัตร” แม้จะต่อคิวออนไลน์นานหลายชั่วโมงเพื่อรอซื้อบัตรก็ตาม ตามรายงานของเอพีและรอยเตอร์
เหตุการณ์ “บัตรล่ม” ครั้งนั้น ทำให้ทิคเก็ตมาสเตอร์ยกเลิกแผนการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต อีราส์ (Eras) ซึ่งเป็นทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกในรอบห้าปีของศิลปินสาวชื่อดังชาวอเมริกัน หลังเว็บไซต์ของบริษัทได้รับคำขอกว่า 3,500 ล้านครั้งจากแฟนเพลง บอท และนักซื้อบัตรเพื่อนำไปขายต่อ
ความโปร่งใสในการตั้งราคาและการจัดการจำหน่ายบัตรของทิคเก็ตมาสเตอร์ กลายเป็นประเด็นร้อนจนคณะกรรมการตุลาการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เปิดวาระไต่สวนเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ม.ค. หลังกลุ่มผู้เสียหายยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทิคเก็ตมาสเตอร์เป็นบริษัทจำหน่ายบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำหน่ายบัตรปีละ 500 ล้านใบใน 30 ประเทศ ข้อมูลในคำยื่นฟ้องจากผู้เสียหายระบุว่า ทิคเก็ตมาสเตอร์เป็นผู้จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตใหญ่ในสหรัฐฯ ถึงราว 70% ของบัตรทั้งหมด
สว. สหรัฐฯ จากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังหารือถึงมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การกำหนดห้ามโอนชื่อบัตรเป็นชื่อผู้อื่น เพื่อป้องกันการนำบัตรไปขายต่อ การกำหนดให้บริษัทชี้แจงราคาบัตรอย่างโปร่งใสขึ้น รวมไปถึงการให้ทิคเก็ตมาสเตอร์และไลฟ์ เนชัน (Live Nation) บริษัทจัดคอนเสิร์ต แยกตัวออกจากกัน หลังทั้งสองบริษัทควบรวมกิจการกันเมื่อปี 2010
ขณะเดียวกัน ทางทิคเก็ตมาสเตอร์อธิบายว่า เว็บไซต์ของบริษัทต้องรองรับทั้งแฟนเพลงที่รอจองบัตร และบอทโจมตีที่แฝงตัวเป็นลูกค้าที่เล็งซื้อบัตรเพื่อไปจำหน่ายต่อในเว็บไซต์อื่น ๆ
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. โจ เบิร์ชโทลด์ ประธานของไลฟ์ เนชัน กล่าวขอโทษแฟนเพลงและสวิฟท์ พร้อมกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทิคเก็ตมาสเตอร์ใช้งบ 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของระบบการจำหน่ายบัตรและหยุดการโจมตีจากบอท เขายังขอความช่วยเหลือในการรับมือบอทที่ซื้อบัตรเพื่อขายต่อนี้ด้วย
สารพัดข้อคลางแคลงใจต่อการจัดการของ ‘ทิคเก็ตมาสเตอร์’
สว. อเมริกันต่างตั้งคำถามถึงการจัดการจำหน่ายบัตรดังกล่าว เช่น มาร์ชา แบล็คเบิร์น สว. สหรัฐฯ พรรครีพับลิกัน จากรัฐเทนเนสซี ระบุว่า หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคาร บริษัทพลังงาน ต่างตกเป็นเป้าโจมตีของบอทบ่อยครั้ง แต่กลับสามารถจัดการและไม่ประสบปัญหาระบบล่ม
ทางด้านเอมี โคลบูชาร์ สว. สหรัฐฯ พรรคเดโมแครต จากรัฐมินเนโซตา ตั้งข้อสังเกตว่า บัตรคอนเสิร์ตมีราคาสูงเกินไปสำหรับแฟนเพลงจำนวนมาก โดยค่าธรรมเนียมบัตรมักมีมูลค่าราว 27% ของราคาบัตรทั้งหมด และอาจขึ้นไปสูงได้ถึง 75%
เบิร์ชโทลด์ จากไลฟ์ เนชัน ยืนยันว่า ทิคเก็ตมาสเตอร์ไม่ได้ตั้งราคาหรือค่าธรรมเนียมบริการของบัตร และไม่ได้ตัดสินใจว่าจะจำหน่ายบัตรจำนวนเท่าใด เขากล่าวว่า เจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ตเป็นผู้กำหนดค่าธรรมเนียมบริการ โดยไลฟ์ เนชัน เป็นเจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ตเพียง 5% ของสถานที่ทั้งหมดในสหรัฐฯ เท่านั้น
เบิร์ชโทลด์ยังกล่าวด้วยว่า ค่าธรรมเนียมบัตรนั้นผันแปรขึ้นอยู่กับ “เรทติ้ง” ของคอนเสิร์ต โดยในประเด็นนี้ สว. โคลบูชาร์ ตอบโต้ว่า ไม่มีความโปร่งใสว่าใครเป็นผู้กำหนดค่าธรรมเนียมกันแน่
แจ็ค โกรตซินเจอร์ ซีอีโอของซีท กีค (Seat Geek) บริษัทจำหน่ายบัตรอีกแห่ง เห็นว่า การที่ทิคเก็ตมาสเตอร์และไลฟ์ เนชัน รวมตัวกัน ทำให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมคอนเสิร์ต และทางแก้เดียวก็คือการแยกทั้งสองบริษัทออกจากกัน เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด
โกรตซินเจอร์อธิบายว่า แม้บริษัทไลฟ์ เนชัน จะไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ต แต่ทางบริษัทก็กีดกันการแข่งขันด้วยการทำสัญญานานหลายปีกับสถานที่จัดงานเพื่อจำหน่ายบัตร โดยหากเจ้าของสถานที่เหล่านี้ไม่ตกลงใช้บริการของทิคเก็ตมาสเตอร์ ทางไลฟ์ เนชัน ก็อาจไม่ดำเนินการจัดคอนเสิร์ตที่สถานที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปี 2010 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อนุญาตให้ไลฟ์ เนชัน และทิคเก็ตมาสเตอร์รวมกิจการกันได้ ตราบใดที่ไลฟ์ เนชัน ตกลงที่จะไม่กลั่นแกล้งเจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ หากพวกเขาใช้บริการบริษัทจำหน่ายตั๋วอื่น ๆ เป็นเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ทางกระทรวงได้ทำการสอบสวน และพบว่าไลฟ์ เนชัน ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวหลายครั้ง และได้ขยายข้อห้ามไลฟ์ เนชัน กลั่นแกล้งเจ้าของสถานที่จัดคอนเสิร์ตออกไปจนถึงปี 2025
ไมค์ ลี สว. สหรัฐฯ พรรครีพับลิกัน จากรัฐยูทาห์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้ทำการสอบสวนเนชัน ไลฟ์ อีกครั้ง หลังเกิดเหตุครั้งนี้ เขายังเห็นว่า รัฐสภาสหรัฐฯ ควรตั้งคำถามว่า กระทรวงทำถูกแล้วหรือไม่ที่อนุญาตให้ทั้งสองบริษัทรวมตัวกันได้
สว. ลี เห็นว่า การรักษาการแข่งขันที่เป็นธรรม อิสระ และเปิดกว้างในตลาดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มคุณภาพและลดราคาสินค้าในท้องตลาด และควรมีกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายที่ดีขึ้นเพื่อปกป้องชาวอเมริกัน
ศิลปินเผย “ไลฟ์ เนชัน” แบ่งกำไรให้ไม่เป็นธรรม
ทางด้านไคลด์ ลอว์เรนซ์ ศิลปินจากวงดนตรีป๊อป “ลอว์เรนซ์” เผยว่า เมื่อไลฟ์ เนชัน เป็นเจ้าของหรือทำสัญญากับสถานที่จัดงานคอนเสิร์ต ศิลปินจะมีอำนาจจำกัดในการต่อรองข้อตกลงหรือขอเปลี่ยนบริษัทจำหน่ายบัตร
ลอว์เรนซ์ยกตัวอย่างว่า ทิคเก็ตมาสเตอร์ตั้งราคาค่าบัตร บัตรละ 30 ดอลลาร์ แต่เมื่อรวมค่าธรรมเนียมแล้ว ค่าบัตรทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นเป็น 42 ดอลลาร์ โดยทางวงได้รับเงินเพียง 12 ดอลลาร์จากบัตรหนึ่งใบเท่านั้นหลังหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายให้ไลฟ์ เนชัน เช่น ค่าผ้าเช็ดตัวในห้องแต่งตัว 10 ผืน ด้วยราคา 250 ดอลลาร์
ศิลปินผู้นี้กล่าวต่อว่า เธอต้องการการจำกัดค่าธรรมเนียม ความโปร่งใสต่อการบริหารค่าธรรมเนียมสถานที่ รวมทั้งมีการแบ่งกำไรให้ศิลปินอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ไลฟ์ เนชัน กินส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้าของศิลปินที่คอนเสิร์ต แต่กลับไม่แบ่งยอดขายอาหารและน้ำที่คอนเสิร์ตให้กับศิลปิน
ขณะเดียวกัน เบิร์ชโทลด์ แห่งไลฟ์ เนชัน กล่าวกับบรรดาวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ว่า เขาต้องการให้มีการจัดการการซื้อบัตรไปขายต่อในราคาสูง เขาระบุว่า มีวงเงินหมุนเวียนในวงการขายบัตรต่อนี้ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการห้ามการกระทำหลอกลวงผู้บริโภค เช่น การเสนอขายบัตรต่อทั้งที่บัตรนั้นยังไม่ถูกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และเขาเห็นด้วยว่า อุตสาหกรรมจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตควรมีความโปร่งใสเรื่องค่าธรรมเนียมมากขึ้น
ทางด้านจอห์น เคนเนดี สว. สหรัฐฯ พรรครีพับลิกัน รัฐลุยเซียนา เสนอให้มีการห้ามโอนชื่อเจ้าของบัตรคอนเสิร์ตเพื่อป้องกันการขายต่อ โดยเบิร์ชโทลด์เห็นด้วยกับประเด็นนี้เช่นกัน แม้ว่าบริษัทของเขาจะทำธุรกิจขายบัตรต่อก็ตาม
- ที่มา: เอพี, รอยเตอร์