สำหรับใครที่ชอบการถ่ายภาพตัวเอง หรือ เซลฟี่ เป็นชีวิตจิตใจ คงต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาพประทับใจของตัวเองบนหน้าผาหรือริมน้ำตก เพราะภาพนั้นอาจเป็นความประทับใจครั้งสุดท้ายของชีวิตก็ได้
ผลการวิจัยของ All India Institute of Medical Sciences ในกรุงนิวเดลี ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ Journal of Family Medicine and Primary Care เก็บข้อมูลรายงานข่าวการเสียชีวิตจากการถ่ายภาพเซลฟี่ ในช่วงปี 2554-2560 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถ่ายภาพตัวเองอยู่ที่ 259 คนทั่วโลก และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากการเซลฟี่เพียง 3 คน แต่เมื่อปี 2559 กลับมากถึง 98 คนทีเดียว
เมื่อแบ่งเป็นรายประเทศ พบว่า อินเดีย ครองแชมป์ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการถ่ายภาพตัวเองมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 159 รายในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รองลงมาได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ และปากีสถาน แบ่งเป็นช่วงอายุ พบว่ากว่าร้อยละ 85 เป็นกลุ่มที่มีอายุราว 10-30 ปี และแบ่งแยกเป็นเพศ พบว่า ร้อยละ 72 เป็นผู้ชาย ซึ่งแม้จะดูว่าผู้หญิงน่าจะเป็นฝ่ายที่ชื่นชอบการถ่ายเซลฟี่มากกว่าผู้ชาย แต่ในทางกลับกัน ผู้ชายมักจะเลือกทำอะไรเสี่ยงๆ เพื่อแลกกับเซลฟี่ที่น่าจดจำมากกว่า
สำหรับสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากเซลฟี่ ได้แก่ การจมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคลื่นซัดหายไปในทะเล หรือตกเรือ อันดับ 2 คือ การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับยานพาหนะ เช่น พยายามถ่ายภาพตัวเองระหว่างที่ยานพาหนะกำลังเคลื่อน หรือยืนอยู่บนทางรถไฟ และอันดับ 3 ได้แก่ การตกจากที่สูงและไฟไหม้ ซึ่งเท่ากับการถ่ายเซลฟี่กับสัตว์ร้าย นอกจากนี้ยังมีการเสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อต อุบัติเหตุระหว่างเซลฟี่กับอาวุธ ซึ่งถือเป็นการเสียชีวิตอันดับต้นๆของผู้คนในสหรัฐฯ
การวิจัยของอินเดียครั้งนี้ มองว่า การเซลฟี่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆเพื่อให้ได้ภาพมาแลกไลก์และข้อความคอมเมนต์ต่างหากที่อันตราย ซึ่งทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพเซลฟี่ด้วย
พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยยังเสนอให้มีการกำหนด No Selfie Zone ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ยอดเขา แหล่งน้ำ ยอดตึกระฟ้า ซึ่งตอนนี้มีอินเดียและรัสเซีย ที่ออกมาเคลื่อนไหวในการกำหนดพื้นที่ห้ามเซลฟี่ตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายสิบแห่ง รวมทั้งมีการแจ้งใบปลิวเพื่อเตือนถึงภัยจากการเซลฟี่ที่ไม่ปลอดภัยด้วย