ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อังกฤษผุดไอเดียล้ำ ‘เสพย์งานศิลป์’ ส่งผลต่อสมองแบบเรียลไทม์อย่างไร?


ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะคอร์ทาวด์ แกเลอรี (Courtauld Gallery) ในกรุงลอนดอน ได้ผุดโปรเจ็กต์ใหม่ในการรวมศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสมองของคนเราถูกกระตุ้นอย่างไรบ้าง ในขณะที่มองภาพวาดที่สวยงาม

ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะคอร์ทาวด์ แกเลอรี ในกรุงลอนดอนสามารถทดลองใช้เทคโนโลยีเพื่อดูคลื่นสมองของตนแบบเรียลไทม์ ในขณะชื่นชมผลงานของศิลปินชื่อดังระดับโลก ซึ่งรวมไปถึงผลงานของศิลปินแวน โก๊ะด้วย

เจนนี วาลด์แมน ผู้อำนวยการอาร์ท ฟันด์ (Art Fund) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านงานศิลปะแห่งประเทศอังกฤษบอกกับรอยเตอร์ว่า ทุกคนต่างทราบดีว่า มีปฏิกิริยาบางอย่างในสมองเกิดขึ้นในขณะที่เรามองดูสิ่งที่สวยงามหรือสิ่งที่น่าสนใจ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จะแสดงให้เห็นรูปแบบของคลื่นสมองของคนเราในขณะที่กำลังมองสิ่งที่น่าดึงดูด สร้างแรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่มีผลทางอารมณ์

โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้สวมชุดหูฟังที่แสดงภาพคลื่นไฟฟ้าในสมอง หรือ EEG ซึ่งเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าเล็ก ๆ จากสมองให้เป็นภาพปฏิกิริยาในสมองแบบเรียลไทม์

แพทย์หญิง ไวช์ เฟริโซลี ผู้มาเยี่ยมชมงานศิลปะแห่งนี้เป็นประจำกล่าวว่า เขาแค่มองดูภาพงานศิลปะไปตามปกติ แต่ภาพปฏิกิริยาของสมองของบนหน้าจอที่เขามองเห็นนั้น เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก

งานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยอาร์ท ฟันด์ แสดงให้เห็นว่าในขณะที่มีผู้คน 95% เห็นด้วยว่าการไปเยี่ยมชมงานศิลป์นั้นเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง แต่ 40% เข้าชมกันน้อยกว่าปีละหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่าการมองดูสิ่งสวยงามจะกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสารโดพามีนในสมองของคนเรา ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังมีความรู้สึกที่ดี ๆ

นายแพทย์อาห์มัด เบย์ห นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส กล่าวว่า การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ มากมายในสมอง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่สมองได้ทำงานนั้นจะช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าได้

ทั้งนี้ องค์กรอาร์ท ฟันด์ หวังว่า การเน้นย้ำถึงผลกระทบในเชิงบวกของการชมงานศิลปะที่มีต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีนั้น จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนมาเยี่ยมชมหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG