หน่วยงานสหรัฐฯ กล่าววันพฤหัสบดีว่าบุคคล 5 รายบนเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ที่ขาดการติดต่อระหว่างเดินทางชมซากไททานิก เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดจาก ‘การระเบิดจากภายใน’ ตามรายงานของรอยเตอร์
บริษัทโอเชียนเกตเอ็กซ์เพดิชั่นส์ (OceanGate Expeditions) ผู้ให้บริการการเดินทางโดยเรือดำน้ำเพื่อสำรวจซากไททานิก กล่าวในแถลงการณ์ว่า “คนเหล่านี้คือนักสำรวจที่แท้จริงผู้ซึ่งมีจิตวิญญาณร่วมกันในการผจญภัยและมีแรงผลักดันที่ล้ำลึกต่อการสำรวจและปกป้องมหาสมุทร....เราขอส่งความรู้สึกจากใจไปยังพวกเขาทั้ง 5 คนและสมาชิกครอบครัวทุกคนของพวกเขาในช่วงเวลาอันเศร้าสลดนี้”
ข่าวดังกล่าวนำบทสรุปอันมืดมน ต่อปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ 'ไททัน' ที่พาคณะชมซากเรือไททานิกที่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก หลังจากที่เรือขาดการติดต่อเมื่อวันอาทิตย์ และผ่านเส้นตายที่มีการประเมินว่าปริมาณออกซิเจนภายในลำเรือน่าจะหมดลงไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี รอยเตอร์ระบุโดยอ้างสื่อซีเอ็นเอ็นว่าในรายงานของ U.S. Coast Guard มีข้อมูลที่ระบุว่าพบเศษซากที่ก้นมหาสมุทร ใกล้กับบริเวณที่เรือไททานิกจมอยู่
รายงานกล่าวว่าข้อมูลเรื่องเศษซากชิ้นส่วนได้มาจากหุ่นยนต์จากเรือเเคนาดาดำดิ่งลงไปเก็บข้อมูลใกล้ซากเรือไททานิกที่ล่มลงเมื่อกว่า 100 ปีก่อน บริเวณความลึก 4 กิโลเมตรจากผิวน้ำ
ในรายงานของเอพี ทีมกู้ชีพได้ส่งเรือ เครื่องบิน และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปยังจุดที่เชื่อว่า เป็นบริเวณที่เรือหายไปแล้ว และในวันพฤหัสบดี หน่วยงาน U.S. Coast Guard เปิดเผยว่า หุ่นยนต์สำรวจใต้ทะเลที่เรือค้นหาของแคนาดาส่งออกมาเดินทางถึงพื้นก้นทะเลแล้ว ขณะที่ สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสเปิดเผยด้วยว่า หุ่นยนต์ดำน้ำลึกตัวหนึ่งที่ติดกล้อง ไฟ และแขนได้เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหานี้ด้วย
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเคยหวังว่า เสียงใต้น้ำที่เครื่องบินของแคนาดาตรวจพบในวันพุธจะช่วยตีวงการค้นหาให้แคบลง จากเดิมที่กินพื้นที่หลายพันไมล์
อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะพบคณะค้นหาที่หายไปกว่า 4 วันแล้วว่า ยังมีชีวิตอยู่นั้นริบหรี่ลงทุกขณะในวันพฤหัสบดี จนกระทั่งทราบข่าวการเสียชีวิตของบุคคลของทั้ง 5 รายในเรือไททันช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี
นอกจากกัปตันเรือแล้ว เมื่อต้นสัปดาห์เอพีเปิดเผยชื่อของผู้โดยสารที่ได้รับการยืนยันจากองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว
หนึ่งในนั้นคือ ฮามิช ฮาร์ดิงนักธุรกิจชาวอังกฤษ ประธานบริษัทแอ็คชั่นเอวิเอชั่น (Action Aviation) เขาเป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่อาศัยอยู่ที่นครดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮาร์ดิงเป็นเจ้าของสถิติโลกสามรายการซึ่งรวมถึงการเดินทางสู่จุดต่ำที่สุดของบริเวณร่องลึกมหาสมุทรที่เรียกว่า 'มาเรียนาเทรนช์' เมื่อเดือนมีนาคม 2 ปีก่อน
นอกจากนั้น ผู้โดยสารยังประกอบด้วย ชาห์ซาดา และสุเลมาน ดาวูด ชาวปากีสถาน จากครอบครัวนักลงทุนในหลายธุรกิจตั้งเเต่การเกษตรไปจนถึงภาคการดูเเลสุขภาพ
นักสำรวจชาวฝรั่งเศสและผู้เชี่ยวชาญเรื่องเรือไททาทิก พอล-อองรี นาร์จีโอเลต์ อยู่ในเรือด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลของเอพีที่อ้างอิงคำพูดของเดวิด กัลโล เพื่อนของเขาที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อซีเอ็นเอ็น
ที่ผ่านมา อุปสรรคมากมายของปฏิบัติการค้นหานี้เป็นสิ่งที่ทีมงานพยายามฟันฝ่าให้ได้ ตั้งแต่การชี้จุดของลำเรือ ไปจนถึงความพยายามไปให้ถึงลำเรือให้ได้พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ การนำตัวเรือมาสู่ผิวน้ำ ถ้าสภาพเรือยังปกติดีอยู่ โดยทั้งหมดนั้นต้องเกิดขึ้นก่อนออกซิเจนในเรือจะหมดลง
ดร.ร็อบ ลาร์เตอร์ นักฟิสิกข์ธรณีวิทยาทางทะเลจาก British Antarctic Survey ย้ำว่า ความยากลำบากในการค้นหาสิ่งที่มีขนาดเท่า ๆ กับเรือดำน้ำไททัน ซึ่งยาว 6.5 เมตรและสูงเกือบ 3 เมตรนั้นอยู่ที่ความเป็นจริงว่า ปฏิบัติการนี้เดินหน้าภายใต้ “สภาพบรรยากาศที่มืดสนิท” จนทำให้คณะค้นหาพลาดสิ่งที่มองหาอยู่ไปได้ แม้จะอยู่ใกล้เพียงไม่กี่ฟุตก็ตาม ซึ่งทำให้งานนี้เป็น “การงมเข็มในมหาสมุทร ถ้าคุณไม่มีตำแหน่งที่ตั้งซึ่งแม่นยำเที่ยงตรงจริง ๆ” ตามรายงานของเอพี
โดนัลด์ เมอร์ฟี นักสมุทรศาสตร์จากทีม International Ice Patrol ของหน่วยดูเเลความปลอดภัยตามชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า พื้นที่มหาสมุทรนอร์ธแอตแลนติกที่เรือดำน้ำไททันหายไปนั้นเป็นบริเวณที่มักมีหมอกและพายุปกคลุมได้ง่าย ๆ ทำให้ภารกิจค้นหาและกู้ชีพเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ขณะที่ ผู้โดยสารในเรือก็มีโอกาสจะตกอยู่ในสภาพอากาศเย็นจัดจนเยือกแข็งด้วย
พลเรือโทโรเบิร์ต เมอร์เรตต์ ซึ่งเกษียณราชการไปแล้วและปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ Institute for Security Policy and Law แห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ให้ความเห็นว่า การอันตรธานไปของเรือดำน้ำไททันเน้นย้ำให้เห็นถึงอันตรายจากการดำเนินปฏิบัติการต่าง ๆ ในพื้นที่น้ำลึกและจากการสำรวจทะเลและอวกาศเพื่อจุดประสงค์ด้านสันทนาการ โดยระบุว่า “ผมคิดว่า บางคนเชื่อว่า เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นดีมากเหลือเกินจนเราจะทำอะไรแบบนี้ได้และจะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแน่ ๆ แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเสมอ”
-
ที่มา: วีโอเอ เอพี รอยเตอร์