รัฐบาลสหรัฐฯ และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐต่าง ๆ กำลังเร่งยกระดับความพยายามในการจำกัดการใช้สารเคมีพิษที่เรียกกันว่า PFAS ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเพื่อควบคุมระดับของสารดังกล่าวในน้ำดื่ม ในขณะที่ นักวิทยาศาสตร์ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการค้นหาวิธีกำจัดสารที่ถูกขนานนามว่า "สารเคมีตลอดกาล" (forever chemicals) นี้ให้สิ้นซากแล้ว
PFAS คือ สารเคมีสังเคราะห์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และมีคุณลักษณะที่สามารถต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้นำสารเคมีนี้มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เสื้อผ้ากันน้ำและกระทะเคลือบสารกันติด
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของสาร PFAS ที่โดดเด่นนี้กลับมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อความเป็นอยู่ของผู้คน หลังมีการพบว่า การใช้งานสารเคมีประเภทนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งรวมถึง โรคมะเร็ง มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
แกรห์ม พีสลี อาจารย์ด้านฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแห่งนอเทรอเดม (University of Notre Dame) คือ หนึ่งในผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนของการยกเลิกการใช้สารเคมี PFAS ทุกชนิด
เพย์สลีย์ อธิบายว่า สภาผู้แทนสภาล่างในระดับรัฐหลายแห่งได้เริ่มพิจารณาการดำเนินการด้านกำกับดูแลโดยแล้ว ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมเองก็ตอบรับในเรื่องนี้ด้วย เพราะถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาพร้อมต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ก็คงไม่แพงเท่ากับการถูกฟ้องร้องที่อาจตามมา หากไม่มีการยกเลิกสารเคมีนี้
และเนื่องจากสารเคมีพิษเหล่านี้สามารถถูกพัดพาไปกับน้ำได้ง่าย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หน่วยงานคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency - EPA) ได้เสนอมาตรฐานการป้องกันสุขภาพระดับชาติสำหรับสารเคมี PFAS จำนวนหกชนิดที่พบได้ในน้ำดื่มแล้ว ซึ่งคาดว่า น่าจะได้ข้อสรุปเรื่องกฎระเบียบภายในสิ้นปี 2023 นี้
ในถ้อยแถลงตอบกลับสำนักข่าววีโอเอ หน่วยงาน EPA ระบุว่า ระบบน้ำประปาสาธารณะจำนวน 6,300 ระบบจะมีเวลา 3 ปีในการปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยหน่วยงานดังกล่าวยังชี้ว่า มาตรการเหล่านี้น่าจะลดโอกาสที่ชาวอเมริกันเกือบ 100 ล้านคนจะสัมผัสกับสารเคมีนี้ได้ด้วย
ขณะเดียวกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้
บรูซ ริตต์แมนน์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จาก Arizona State University กำลังทำการศึกษาเกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในท้องตลาดมาทำลายแรงยึดเหนี่ยวที่เกิดขึ้นระหว่างสารคาร์บอนกับฟลูออรีนที่ป้องกันไม่ให้ PFAS ถูกย่อยสลายได้ง่ายในธรรมชาติจนเป็นสาเหตุที่ถูกเรียกว่า "สารเคมีตลอดกาล"
สำหรับกระบวนการนี้ ริตต์มันน์ อธิบายว่า เป็นการอิเล็กตรอนจากก๊าซไฮโดรเจน มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยามาจัดการกับอะตอมของฟลูออรีน เพื่อให้โมเลกุลเหล่านั้นกลายสภาพมาอยู่ในสถานะที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ก่อนที่จะส่งต่อให้จุลินทรีย์แบคทีเรียทำหน้าที่ย่อยสลายต่อไป
ส่วน มาจิด โมห์เสนี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) ในประเทศแคนาดา ก็ได้พัฒนาวิธีใหม่สำหรับการกรองสาร PFAS ออกจากน้ำที่เขาหวังว่า จะนำมาใช้ในสหรัฐฯ เร็วๆ นี้
โมห์เสนี เล่าว่า วิธีการที่ตนพัฒนาขึ้นมานั้นไม่เพียงแต่จะสามารถจับสาร PFAS ได้ทุกประเภท แต่ยังจะช่วยชุบชีวิตวัสดุที่มีส่วนผสมของสารเหล่านี้ขึ้นมาใหม่และเราก็จะสามารถนำวัสดุที่ว่ากลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย
อย่างไรก็ดี หลายคนยังคงมีความกังวลว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหาการปนเปื้อนของ PFAS ในน้ำและผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอยู่นั้นยังรุดหน้าไม่รวดเร็วมากพอ
เอริน ไรลีย์ จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร James River Association ในรัฐเวอร์จิเนีย กล่าวว่า ปัญหานี้ควรได้รับการดูแลจากหน่วยงานกำกับดูแลด้วยการออกกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างครอบคลุม โดยไม่ทิ้งให้ผู้บริโภคต้องพยายามดูแลปกป้องตนเอง
ท้ายสุด สมาคมเครื่องแต่งกายและรองเท้าสหรัฐฯ (American Apparel and Footwear Association - AAFA) และสภาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม (Personal Care Products Council - PCPC) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าซึ่งมีสาร PFAS เป็นส่วนประกอบ บอกกับ วีโอเอ ว่า สมาชิกทุกรายมีความมุ่งมั่นที่จะยุติการใช้สารดังกล่าวอย่างตั้งใจ และก้าวไปสู่เทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าที่มีความทันสมัยและปลอดภัยด้วย
- ที่มา: วีโอเอ