เมื่อเดือนกรกฎาคม กลุ่มกบฏฮูตีที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ซึ่งต่อต้านกองกำลังที่มีซาอุดิอาระเบียเป็นแกนนำในเยเมน ได้นำภาพโดรนโจมตีทำในอิหร่านรุ่น Sammad 3 ติดตั้งวัตถุระเบิดและสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปได้ราว 1,500 ก.ม. ออกแสดง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสี่ปีของสงครามความขัดแย้งในเยเมน ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของซาอุดิอาระเบียนี้ ยังไม่เคยมีการใช้โดรนเพื่อโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันมาก่อน ดังนั้นการโจมตีสถานีผลิตนำมันดิบของซาอุดิอาระเบียเมื่อวันเสาร์จึงนับเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผลผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียวันละ 5,700,000 บาร์เรล ต้องหยุดชะงักลง
นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลาง เช่น คุณ Theodore Karasik ชี้ว่า เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงถึงความเปราะบางของอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงผู้นี้เปรียบเทียบเหตุการณ์โจมตีดังกล่าวว่าเหมือนกับการก่อวินาศกรรมวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน เพราะการใช้โดรนติดอาวุธเข้าทำลายเป้าหมายจากระยะไกลนี้ เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเต็ม 100% โดยเป็นการโจมตีในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและการตอบโต้ด้วย
ในขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมและข่าวกรองของสหรัฐบ่งชี้ว่า ทิศทางการโจมตีและอาวุธที่ใช้น่าจะเป็นของอิหร่าน และซาอุดิอาระเบียก็เชื่อว่าอาวุธที่ใช้มาจากอิหร่าน
แต่ขณะนี้ทางการซาอุดิอาระเบียกำลังพยายามหาคำตอบเรื่องจุดที่ตั้งของการส่งโดรนโจมตีครั้งนี้อยู่
ทางด้านคุณ Jeffrey Price ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและอาจารย์ผู้สอนด้านการจัดการอากาศยานที่มหาวิทยาลัย Metropolitan State University ในนครเดนเวอร์ บอกกับวีโอเอว่า การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียด้วยจรวดและโดรนจากระยะไกลครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนเกมการรบใหม่ โดยการใช้โดรนติดอาวุธดังกล่าวจะเป็นแนวรบใหม่สำหรับสงครามในอนาคตด้วย
เขาชี้ว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการโจมตีในลักษณะนี้ เพราะอาวุธทางอากาศลักษณะเคลื่อนที่เร็วกว่าเครื่องบินที่มีนักบินควบคุม ทั้งยังสามารถบินต่ำและยากต่อการตรวจจับด้วยเรดาห์
คุณ Jeffrey Price ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การใช้โดรนติดอาวุธเพื่อโจมตีสามารถทำได้โดยกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการโดยอิสระ และง่ายที่จะปกปิดตัวเองและจะทำให้ยากมากขึ้นต่อการค้นหาและระบุผู้กระทำการ
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงยังเปรียบเทียบด้วยว่า เท่าที่ผ่านมากองทัพของประเทศต่างๆ อาจมีกำลังทางอากาศซึ่งเป็นต่อ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนในปัจจุบันทำให้สนามการแข่งขันดูจะมีความทัดเทียมกันมากขึ้น และยากขึ้นด้วยสำหรับประเทศต่างๆ ที่จะป้องกันเป้าหมายสำคัญของตน