บริษัท ซังซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) และ บริษัท ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำ (memory chip) รายใหญ่ที่สุดในโลก ออกมาเตือนว่า มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนของรัฐบาลเมืองซีอาน ประเทศจีน อาจส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตชิปในพื้นที่ดังกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา เมืองซีอาน สั่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 พร้อมสั่งจำกัดการเดินทางเข้าออกเมืองแห่งนี้ด้วย แต่แผนงานดังกล่าวกลับกลายมาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ส่งออกในประเทศที่ประสบปัญหาค่าขนส่งพุ่งสูงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการหยุดชะงักของระบบโลจิสติกส์โลก ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะวิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
บริษัท ไมครอน กล่าวในวันพุธว่า มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดนี้อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งชิปหน่วยความจำแบบ DRAM ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้งานกันอย่างกว้างขวางตามศูนย์ข้อมูลต่างๆ ขณะที่ มาตรการควบคุมเข้มงวดในเมืองซีอาน อาจะทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาขาดแคลนพนักงานที่โรงงานผลิตทั้งหลายยากขึ้นไปอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ซัมซุง กล่าวว่า บริษัทจะทำการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติงานที่ศูนย์ผลิตของตนในเมืองซีอานเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนของการผลิตชิปหน่วยความจำแฟลช NAND ซึ่งใช้งานสำหรับการจัดเก็บข้อมูลตามศูนย์ข้อมูลทั่วไป รวมทั้งสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ
สื่อท้องถิ่นในจีนรายงานในวันพฤหัสบดีว่า โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของซัมซุงในเมืองซีอานยังคงเปิดทำการตามปกติ ขณะที่ บริษัทวิเคราะห์ธุรกิจ TrendForce ให้ความเห็นว่า โรงงานของซัมซุงน่าจะยังคงดำเนินกิจการได้ต่อไปอีกระยะ เนื่องจากยังมีซัพพลายวัตถุดิบต่างๆ เหลือพอใช้ แต่หากภาวะระบาดใหญ่เกิดบานปลายยืดยาวต่อไป จำนวนของที่ผลิตออกมาได้จากที่นี่น่าจะลดลงบ้าง
อย่างไรก็ตาม ยาน เจิงยิง จากบริษัทที่ปรึกษา Bayes Consulting ในกรุงปักกิ่ง เชื่อว่า ผลกระทบโดยรวมจากสถานการณ์ในซีอานต่อปริมาณซัพพลายชิปหน่วยความจำทั่วโลก น่าจะไม่รุนแรงเท่าใด แม้ยังมีความไม่แน่นอนว่า ทางการจีนจะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้เร็วเพียงใด และโรงงานต่างๆ จะกลับมาเปิดสายการผลิตเต็มที่ได้เมื่อใด
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)