ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้คนจำนวนมากถูกเลิกจ้างงาน และเจ้าของกิจการรู้สึกมืดแปดด้าน
และเมื่อโควิด-19 เปลี่ยนชีวิตของหลายคน จุดผกผันนี้อาจทำให้เกิดมุมมองใหม่ ต่อคำถามเดิมๆที่เคยถามตนเอง เช่น ต้องทำงานหาเงินให้ได้เท่าใดชีวิตจึงจะมีสุข
สื่อซีเอ็นบีซีรวบรวมคำตอบจากงานวิจัย และข้อคิดการทำชีวิตให้เป็นสุขจากผู้เชี่ยวชาญไว้ดังนี้
สำหรับรายได้ที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตที่มีสุข งานวิจัยให้ภาพรวมไว้ว่ามีทั้งปัจจัยด้านค่าครองชีพ และทัศนะคติเชิงเปรียบ เป็นตัวกำหนด
สองศาสตราจารย์รางวัลโนเบล เดเนียล คาห์เนเเมน และ แองกัส ดีตั้น แห่งมาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่สหรัฐฯ เปิดเผยในการศึกษาชิ้นสำคัญเมื่อ 10 ปีก่อนว่า รายได้สำหรับคนอเมริกันที่ 75,000 ดอลลาร์ ต่อปีต่อคน หรือราว 2 ล้าน 4 แสนบาท คือจุดที่เริ่มทำให้เกิดความสุขจุดอิ่มตัว
กล่าวคือ ชาวอเมริกันจะหารายได้ให้มากขึ้น เพราะได้รับความสุขมากขึ้น จนถึงระดับ 75,000 ดอลลาร์ ต่อปี แต่หลังจากนั้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้แปรผันตามความสุขที่มากขึ้นในอัตราเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ซีเอ็นบีซี ระบุว่างานวิจัยของทั้งสองศาสตราจารย์ ยังไม่ ได้ตอบคำถามว่า รายได้ที่มากกว่า 75,000 ดอลลาร์ ทำให้คนมี ‘ความพึงพอใจในการใช้ชีวิต’ มากขึ้นหรือไม่
ซีเอ็นบีซี จึงได้กล่าวถึง งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยเพอร์ิดิว ที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ บริษัท Gallup World Poll
ในการเปิดเผยผลสำรวจของสถาบันดังกล่าว เมื่อ 2 ปีก่อนพบว่า รายได้ต่อปีระดับที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสุขภาพจิตที่ดี จะอยู่ที่
60,000 ถึง 75,000 ดอลลาร์ต่อปี และหากคนมีรายได้เพิ่ม เป็นมากกว่า 105,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือกว่า 3 ล้าน 3 แสนบาทระดับความสุขในชีวิตจะเริ่มลดลง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความสุขหรือความทุกข์มักเกิดขึ้น จากการเปรียบเทียบ และการมีรายได้อยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ คือ 63,179 ดอลลาร์ ก็น่าจะเป็นพื้นฐานของความสุขที่เหมาะสมได้ เพราะสามารถแบกรายจ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตตามปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านจิตทยามีส่วนกำหนดระดับรายได้ที่สร้างความสุขของเเต่ละบุคคลด้วย
ซีเอ็นบีซี อ้างการวิเคราะห์ของอาจารย์ด้านจิตวิทยา ลอรี่ ซานโตแห่งมหาวิทยาลัยเยล ที่ระบุว่า เงินในบัญชีที่มากขึ้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุข ที่มากขึ้นแต่ เงินที่มีมากกว่าคนอื่นคือตัวกำหนดความสุขของใครหลายคน
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า เพราะการเปรียบเทียบกับผู้อื่นนี่เองที่ทำให้อภิมหาเศรษฐีบางคน อาจรู้สึกไม่สุขเท่าที่ควร เมื่อทราบว่ายังคงมีคนที่รวยกว่าพวกเขา
ในขณะที่อาจารย์ แบรด โคลท์ซ แห่งมหาวิทยาลัยเเครห์ตั้น บอกกับซีเอ็นบีซีว่า สัญชาตญาณการอยู่รอดของมนุษย์ผูกพันกับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
และการวิจัยพบว่า เมื่อคนไม่สามารถดำเนินชีวิตในระดับเดียวกับกลุ่มเพื่อนได้ ความรู้สึกไม่มีความสุขก็จะคืบคลานเข้ามา
แบรด โคลท์ซ กล่าวว่า บางคนอาจรู้สึกสะกิดใจขึ้นมา เมื่อเพื่อนบ้านซื้อรถคันใหม่ และถ้าหากเราไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้เช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน ใจก็จะไม่เป็นสุขขึ้นมาทันที
ความต้องการทางวัตถุ เป็นสาเหตุให้คนตกอยู่ในภาวะที่ยอมทำงานที่เงินดี แต่ไม่มีสุข เปรียบเหมือน ห่วงโซ่ทองคำที่เป็นพันธนาการต่อชีวิต
สำหรับผู้ที่ ต้องการทำให้งานที่ทำอยู่สร้างความสุขให้กับชีวิตมากขึ้น บทความของซีเอ็นบีซีเเนะนำว่า คุณอาจต้องหาเเง่มุมของงานที่ได้ประโยชน์จากจุดเด่นจากความเป็นตัวของคุณเอง
ตัวอย่างเช่น หากเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก็อาจใช้นิสัยที่ว่านี้ช่วยเหลือคนอื่นในงานของเรา เพื่อที่ว่าอาชีพที่ทำอยู่จะนำความสุขมากขึ้นมาให้คุณ
ส่วนคำเเนะนำเรื่องการใช้เงินที่หามาได้ ในการพิ่มพูนความสุข ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ควรใช้เงินไปในทางที่ช่วยการพัฒนาตนเอง หรือใช้เงินซื้อประสบการณ์ เเทนที่จะไปซื้อสิ่งของมาครอบครอง
นอกจากนี้ การศึกษาเมื่อ 3 ปีก่อนชี้ว่า ความพึงพอใจในชีวิตเกิดขึ้น เมื่อคนจ่ายเงินจ้างให้ผู้อื่นทำธุระบางอย่างแทน เพราะวิธีนี้อาจช่วยให้ตนเองบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ท้ายสุด บทความนี้ฝากข้อคิด จากอาจารย์ แบรด โคลท์ซ ที่กล่าวว่า คนจะมีความสุขได้มากขึ้นถ้าตระหนักรู้ถึงทัศนะคติของตนเองเรื่องเงินๆทอง และพร้อมจะปรับทัศนะ เพื่อให้ชีวิตมีสุขขึ้น นั่นเอง