ถึงแม้มนุษย์จะไม่มีขีดความสามารถในการสร้างอวัยวะบางส่วนที่ถูกตัดขาดหรือเสียหายไปขึ้นมาใหม่เหมือนกับสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่าได้ก็ตาม แต่นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke ซึ่งเสนอรายงานทางวารสาร Science Advances พบว่า กระดูกอ่อนในข้อต่อของอวัยวะบางส่วนของมนุษย์นั้นสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะทำได้ไม่ดีหรือเร็วเท่าในสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด
นักวิจัยทราบว่าสัตว์บางชนิด เช่น กิ้งก่า ปลาม้าลาย และ axoloti หรือปลาเดินได้ในเม็กซิโกนั้น มีความสามารถในการซ่อมแซมและสร้างอวัยวะขึ้นทดแทน เพราะมีโมเลกุลชนิดหนึ่งที่เรียกว่า microRNA ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในกระดูกข้อต่อ
ขณะเดียวกันนักวิจัยก็พบว่า มนุษย์เราก็มีโมเลกุล microRNA ที่ว่านี้เช่นกัน แต่ความสามารถของโมเลกุล microRNA ในการซ่อมแซมในร่างกายมนุษย์นั้นจะแตกต่างกันไปสำหรับอวัยวะแต่ละส่วน
โดยโมเลกุล microRNA จะทำงานได้อย่างดีหรือแข็งขันสำหรับกระดูกข้อเท้า แต่จะทำงานได้ไม่ดีเท่าสำหรับหัวเข่าหรือสะโพก
ถึงกระนั้นก็ตาม นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke ผู้ศึกษาเรื่องนี้ก็บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้พบกลไกการทำงานซึ่งเป็นตัวควบคุมกระบวนการซ่อมสร้างอวัยวะนี้ในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนของคน และเรียกความสามารถในเรื่องนี้ว่าเป็น “ความสามารถแบบกิ้งก่าที่แฝงอยู่ในตัวคน”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนในอวัยวะแต่ละส่วนของมนุษย์นั้นไม่เท่ากัน คือกระดูกข้อเท้าจะมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้มากที่สุด ตามด้วยหัวเข่าและกระดูกสะโพก ดังนั้นเรื่องนี้จึงดูจะเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้ที่บาดเจ็บที่ข้อเท้าจึงมีโอกาสหายหรือฟื้นตัวได้เร็วกว่าการบาดเจ็บที่หัวเข่าหรือสะโพก
นักวิจัยกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้อาจเป็นข่าวดี เพราะในอนาคตอาจมีการใช้โมเลกุล microRNA ฉีดเข้าไปในกระดูกข้อต่อเพื่อช่วยรักษากระดูกที่เสียหาย หรือเพื่อป้องกันโรคข้ออักเสบ รวมทั้งอาจเป็นพื้นฐานสำหรับโอกาสที่จะสร้างอวัยวะขึ้นมาทดแทนด้วย