รัฐบาลอาฟริกาใต้ประกาศแผนโยกย้ายเเรดจำนวนเกือบ 500 ตัวออกจากอุทยานครูกเก้อร์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเเรดเเละเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลักลอบล่า
เเรดสองตัวกำลังเเทะเล็มหญ้าอยู่ในอุทยานครูกเก้อร์โดยไม่รู้ว่ามีเเรดในฝูงตัวหนึ่งนอนตายอยู่ห่างไปไม่กี่เมตร นกอีเเร้งหลายตัวเกาะอยู่บนต้นไม้ใกล้ๆ มองซากเเรดตาเป็นมันขณะที่ฝูงเเมลงวันกำลังรุมตอมซากเหยื่อล่าสุดของกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ป่า
เจ้าหน้าที่สืบสวนจากหน่วยอาชญากรรมจากสำนักงานอุทยานแห่งชาติอาฟริกาใต้ค่อยๆ เดินไปรอบๆ ซากเเรดเพื่อเก็บหลักฐานด้วยความหวังว่าจะสามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เมื่อเครื่องตรวจโลหะระบุจุดที่ตั้งของกระสุนปืนในซากเเรดได้แล้ว ทีมงานสืบสวนจึงลงมือผ่าชันสูตรซากเเรด
อาฟริกาใต้ประสบปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ป่าที่สังหารเเรดไปแล้วเกือบ 700 ตัวตั้งเเต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยในจำนวนนี้ เเรด 458 ตัวเป็นแรดในอุทยานครูกเก้อร์
ทางการอาฟริกาใต้ได้ทำการย้ายเเรดจำนวน 1450 ตัวออกจากอุทยานเเห่งนี้เเล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเพื่อจัดการจำนวนประชากรเเรด
สัตวเเพทย์มาร์คัส ฮอฟเมเยอร์ หัวหน้าสัตวบาลเเห่งอุทยานครูกเก้อร์ กล่าวว่าความอยู่รอดของเเรดในอาฟริกาเท่าที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับการโยกย้ายสัตว์ไปอยู่ในหลายๆแห่งเพื่อให้เเรดสามารถขยายพันธุ์เเละเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพื่อทดแทนเเรดที่ถูกลักลอบล่าไป
การย้ายเเรดออกจากอุทยานไปอยุ่จุดอื่นๆ อาจจะช่วยกระจัดกระจายเเรดซึ่งเป็นเป้าของการล่าออกไปอยู่ในหลายๆ จุดแทนที่จะตกเป็นเป้าของการลักลอบล่าทีเดียวในจำนวนมาก เเต่สำนักงานอุทยานเเห่งชาติอาฟริกาใต้ตระหนักดีว่าว่าการย้ายเเรดไม่เพียงพอในการป้องกันการลักลอบล่าเเรดเพราะการค้าขายนอแรดมีรายได้มหาศาล อุทยานเเห่งนี้มีพื้นที่ถึงสองล้านเฮคเเตร์เเต่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานลาดตระเวณเพียง 400 นาย
คุณบรูส เลสลี่ หนึ่งในทีมงานพิเศษที่ลาดตระเวณอุทยานกล่าวว่าค่าตอบแทนมหาศาล เป็นเเรงผลักดันให้กลุ่มลักลอบล่าเเรดและเครือข่ายทำทุกวิถีทางให้พวกตนประสบความสำเร็จ มีการปรับยุทธวิธีในการล่าอย่างรวดเร็วเกินกว่าความสามารถของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่
คุณคูบัส เดอ เว็ด เจ้าหน้าที่เเห่งหน่วยสืบสวนทางอาชญากรรมชี้ว่าในปีพุทธศักราช 2553 คนลักลอบล่าเเรดเคยได้ค่าตอบเเทนถึง 7,500 ดอลล่าร์สหรัฐต่อนอเเรดหนึ่งคู่เเต่มาตอนนี้ค่าตอบแทนที่ได้สูงกว่านั้น
เขากล่าวว่าพรานล่าเเรดจำนวนมากได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต พวกเขาไม่ต้องการได้ค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างฐานะพรานล่าอีกต่อไป แต่ต้องการได้ค่าตอบเเทนตามน้ำหนักของนอแรด เป็นค่าตอบเเทนต่อกิโลกรัม หากคิดค่าตอบเเทนตามน้ำหนัก นอเเรดขนาดใหญ่จะทำเงินได้สูงสุดที่ 120,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
เงินจำนวนมากที่ได้เป็นตัวดึงดูดเครือข่ายอาชญากรรมจากทั้งอาฟริกาใต้ไปจนถึงจีน
ขณะที่แผนการโยกย้ายเเรดออกจากอุทยานครูกเก้อร์ไปอยู่จุดอื่นๆ ร่วมกับมาตรการปกป้องเเรดอาจจะช่วยลดความเสี่ยงของแรดต่อการถูกล่าลงได้บ้าง ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ พวกเขาชี้ว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างนานาชาติในการติดตามเเกะรอยของการซื้อขายเพื่อสาวไปให้ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด