สมาชิกวงร็อครัสเซีย ‘Bi-2’ ที่ทางการไทยควบคุมตัวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในข้อหากระทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังอิสราเอลแล้ว หลังเกิดความกังวลว่า ทางการไทยจะขับคนเหล่านี้กลับไปรัสเซียที่อาจจะต้องเผชิญการลงโทษอย่างหนักจากการวิพากษ์วิจารณ์เครมลินต่อกรณีการทำสงครามในยูเครน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วงดนตรีที่มีสมาชิก 7 คนนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยจับกุมหลังทำการแสดงโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ก่อนทั้งหมดจะถูกย้ายมารับการคุมขังที่กรุงเทพฯ ต่อ
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาวงดนตรีนี้ว่า ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย หลังระบุว่า อิกอร์ บอร์ทนิค นักร้องนำของวงเป็นเจ้าหน้าที่ต่างชาติ เพราะออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน
หลังมีข่าวการจับกุมตัวสมาชิกวง Bi-2 ออกมา มีการออกคำแถลงมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ถูกนำไปโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยบางกลุ่มมองว่า การที่วงดนตรีนี้ถูกทางการไทยจับกุมนั้นเป็นเพราะแรงกดดันจากนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ กล่าวว่า ทางการไทยดำเนินการตัดสินใจได้ถูกต้องแล้วที่อนุญาตให้สมาชิกวงดนตรีนี้เดินทางไปอิสราเอลที่ทุกคนจะปลอดภัยกว่า โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “(รัฐบาล)กรุงเทพฯ ทำถูกแล้วที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของมอสโกให้ส่งตัวศิลปินนักเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับไปรับการข่มเหงรังแกบางอย่าง หรืออาจเลวร้ายกว่านั้น ในรัสเซีย แต่ขณะที่ แผนการเดินหมากปราบปรามข้ามประเทศของรัสเซียนี้ล้มเหลว ยังคงมีข้อสงสัยกังวลอยู่บ้างว่า พวกเผด็จการที่มักละเมิดสิทธิ์ของเครมลินจะเดินหน้าพยายามปิดปากชาวรัสเซียที่ออกมาวิจารณ์ตนและลี้ภัยออกนอกประเทศด้วยการใช้ของแข็งหรือใช้แรงของพวกฉ้อฉลแล้วแต่อะไรที่ตนทำได้”
รายงานข่าวระบุว่า สมาชิกทั้ง 7 คนของวงดนตรีนี้ที่ประกอบด้วยผู้มีสัญชาติรัสเซีย อิสราเอลและออสเตรเลีย เกือบไม่ได้เดินทางไปอิสราเอล หลังแผนการในครั้งแรกที่จะทำการดังกล่าวถูกยกเลิกไป จนกระทั่ง บอร์ทนิค นักร้องนำของวงได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเทลอาวีฟก่อนเมื่อต้นสัปดาห์ ก่อนที่ วงจะโพสต์ข้อมูลทางแพลตฟอร์มเทเลแกรมที่ยืนยันว่า สมาชิกทั้งหมดเดินทางออกจากไทยไปอิสราเอลแล้ว
ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายกังวลว่า ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและรัสเซียจะทำให้สมาชิกวงดนตรีนี้ถูกเนรเทศไปรัสเซียหรือเบลารุส
แต่ รศ.พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล จากคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต บอกกับ วีโอเอ ว่า “มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติ(ป้องกันและปรามปราม)การกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุไว้ว่า เจ้าหน้าหรือทางการไทยไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งตัวบุคคลใดหรือเนรเทศผู้ใดไปยังประเทศที่เชื่อว่าจะทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน”
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาร์ค เอส โคแกน จากมหาวิทยาลัยคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ต้องการสร้างปัญหาในด้านความสัมพันธ์กับอิสราเอล โดยระบุว่า “ประเทศไทยมีประวัติเกี่ยวกับการประเมินคดีแบบนี้โดยอ้างอิงจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและภัยคุกคามที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของชาติก่อน และเมื่อพิจารณาแล้วว่า ความเสี่ยงของการสร้างปัญหาทั้งสองประเด็นนั้นต่ำ เนื่องจากหลายคนเป็นชาวเบลารุสและบางคนถือสัญชาติอิสราเอลควบไว้ด้วย คิดว่า รัฐบาลไทยมีเหตุผลสมควรทุกประการที่จะอนุญาตให้ทั้งหมดขึ้นเครื่องไปอิสราเอลได้”
แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์โคแกนกล่าวด้วยว่า หากกรณีนี้เกิดขึ้นในสมัยของอดีตรัฐบาลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางการไทยอาจตัดสินใจดำเนินการที่ต่างจากนี้ก็เป็นได้
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น