ผลการเลือกตั้งในรัสเซียที่จบลงด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลายของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ตามมาซึ่งทรรศนะที่แตกต่างกันในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะระหว่างชาติตะวันตกและชาติพันธมิตรของรัฐบาลกรุงมอสโก ตามการรายงานของรอยเตอร์
ในวันจันทร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวก่อนการประชุมในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ว่า ผลการเลือกตั้งในรัสเซียเป็นการจัดฉาก ก่อนที่จะประชุมข้อตกลงคว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและปฏิบัติอย่างมิชอบต่ออเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัสเซียที่เสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแห่งเยอรมนี กล่าวที่กรุงบรัสเซลล์ว่า “การเลือกตั้งของรัสเซียเป็นการเลือกตั้งโดยไม่มีทางเลือก” ในขณะที่ รมว. ต่างประเทศของฝรั่งเศส สเตฟาน เซจอร์เน กล่าวว่า รัฐบาลกรุงปารีสรับรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการเลือกตั้ง” เพื่อล้อเลียนการรุกรานยูเครน ที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร”
เดวิด แคเมรอน รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นถึงเบื้องลึกการกดขี่ในรัสเซีย โดยระบุว่า “ปูตินกำจัดศัตรูทางการเมือง ควบคุมสื่อ และมอบมงกุฏผู้ชนะให้ตัวเอง นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย”
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวว่า การเลือกตั้งของรัสเซียไม่มีความชอบธรรม และเป็นที่ชัดเจนของคนทั้งโลกว่าปูติน “กระหายอำนาจและทำทุกอย่างเพื่อมีอำนาจตลอดไป”
ส่วนโฆษกทำเนียบขาวกล่าวในวันอาทิตย์ว่า การเลือกตั้งของรัสเซียนั้น “ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน” ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เมื่อรอยเตอร์เผยเเพร่รายงาน
ด้านรัฐบาลเครมลินออกมาปฏิเสธข้อวิจารณ์ทั้งหลาย และกล่าวว่า ผลโหวตเลือกปูตินที่สูงถึง 87% แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อปูตินอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ชาติพันธมิตรของรัสเซียมีท่าทีแตกต่างออกไป โดยสำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน รายงานว่า สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน แสดงความยินดีกับปูติน และเชื่อว่า “ภายใต้การนำของท่าน(ปูติน) รัสเซียจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิมในด้านการพัฒนาและการสร้างชาติ”
สียังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่งจะคงไว้ซึ่งช่องทางการสื่อสารที่ใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนอย่าง “ไม่มีขีดจำกัด” ที่ตกลงกันไว้ในปี 2022 ก่อนสงครามในยูเครนเริ่มต้น
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลนิวเดลีคาดหวังที่จะเสริมสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่พิเศษและคงทนกับรัฐบาลกรุงมอสโก ทั้งนี้ จีน อินเดีย และรัสเซีย เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS การรวมตัวของชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาเพื่อแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดีอิบราฮิม ระอีซี แห่งอิหร่าน กล่าวแสดงความยินดีกับปูติน และเน้นย้ำถึงความต้องการที่จะขยายความร่วมมือทวิภาคีกับรัสเซีย
ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ชาติตะวันตกพยายามเอาชนะรัสเซียในทางการทูต ก็มีสื่อในบางประเทศที่มองว่า ชัยชนะของปูตินจะเป็นปัจจัยเสริมสร้างสถานภาพของประเทศบูร์กินาฟาร์โซ มาลี และไนเจอร์ ที่การรัฐประหารยึดอำนาจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สามประเทศมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ห่างเหินออกจากสหรัฐฯ และฝรั่งเศส
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น