ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: รัสเซียอ้าง สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการจับกุมผู้ก่อตั้งเทเลแกรม-ละเมิดเสรีภาพสื่อ


แฟ้มภาพ - พาเวล ดูรอฟ วัย 39 ปี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอปเทเลแกรม ขึ้นกล่าวบรรยายที่งาน Mobile World Congress ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อ 23 ก.พ. 2559
แฟ้มภาพ - พาเวล ดูรอฟ วัย 39 ปี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแอปเทเลแกรม ขึ้นกล่าวบรรยายที่งาน Mobile World Congress ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อ 23 ก.พ. 2559
อันเดรย์ เคลิน

อันเดรย์ เคลิน

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักร

"เราเข้าใจดีว่า [การจับกุม พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งเทเลแกรม] เป็นการทำร้ายเสรีภาพการแสดงออกอย่างมาก ... (เป็น)สิ่งที่พวกเขาต้องการ -- แน่นอน กรุงปารีสได้รับคำแนะนำบางยอ่างจากสหรัฐฯ -- พวกต้องการข้อมูลสำคัญจากเมสเซนเจอร์คนนี้"

ไม่มีหลักฐานยืนยัน

รัสเซียใช้กรณีที่ทางการฝรั่งเศสดำเนินคดีกับ พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม ‘เทเลแกรม’ มาเป็นข้ออ้างในการกล่าวหากรุงปารีสว่า ละเมิดเสรีภาพสื่อและทำการดังกล่าวแทนสหรัฐฯ

ทางการฝรั่งเศสควบคุมตัวดูรอฟ ซึ่งถือสัญชาติฝรั่งเศส รัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว 4 วันต่อมา แต่ก็ได้รับการร้องขอให้ยังคงอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปภายใต้การดูแลของศาล และต้องจ่ายค่าประกันตัวเป็นเงิน 5.5 ล้านดอลลาร์ด้วย

หนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลเครมลินที่ออกมาโจมตีเรื่องนี้คือ อันเดรย์ เคลิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักร ที่กล่าวว่า การจับกุมดูรอฟนั้นเป็นการทำร้ายเสรีภาพของการแสดงออกอย่างหนัก และว่า ฝรั่งเศสทำการดังกล่าวโดยได้รับคำแนะนำจากสหรัฐฯ:

"เราเข้าใจดีว่า [การจับกุม พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งเทเลแกรม] เป็นการทำร้ายเสรีภาพการแสดงออกอย่างมาก ... (เป็น)สิ่งที่พวกเขาต้องการ -- แน่นอน กรุงปารีสได้รับคำแนะนำบางอย่างจากสหรัฐฯ -- พวกต้องการข้อมูลสำคัญจากเมสเซนเจอร์คนนี้"

คำกล่าวอ้างนี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ มายืนยันเลย

หน่วยงานรักษากฎหมายฝรั่งเศสกล่าวหา ดูรอฟ ว่า เก็บงำข้อมูลสำคัญที่จะสามารถช่วยตำรวจไขคดีอาญาร้ายแรงระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การลักลอบค้ายาและการค้ามนุษย์ การฟอกเงิน การควบคุมเนื้อหาสุดโต่งและการทำธุรกรรมผิดกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาชญากรดำเนินการด้วยการใช้ฟีเจอร์ปกปิดตัวตนของแอปเทเลแกรมเป็นหลัก

ดูรอฟยังถูกสอบสวนในกรณีต้องสงสัยว่าทำการรุนแรงต่อลูกของตนเอง โดยมีการยื่นฟ้องคดีซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วย

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า ได้รับทราบกรณีการจับกุมดูรอฟ หลังเจ้าหน้าที่คุมขังตัวไปแล้ว และยืนยันว่า คำกล่าวหาต่ออภิมหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้นี้ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งกล่าวด้วยว่า การจับกุมตัวดูรอฟนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

มาคร็องกล่าวว่า ฝรั่งเศสนั้นมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นอิสระของหน่วยงานรักษากฎหมายและระบบตุลาการ

ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่พิสูจน์ว่า สหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในส่วนใดในกรณีการจับกุมตัวดูรอฟ ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม โดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในสำนักงานอัยการกรุงปารีส

การที่รัสเซียออกมากล่าวอ้างการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นดูไม่ใช่พฤติกรรมปกติสักเท่าใด เพื่อพิจารณาประวัติของเครมลินที่จำกัดเสรีภาพในด้านนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว โดยรวมถึงการกดดันดูรอฟให้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยให้มีข้อความต่อต้านรัฐบาลในแอปเทเลแรมด้วย

ดูรอฟเปิดตัวสื่อสังคมออนไลน์สัญชาติรัสเซียที่ชื่อ วีคอนทาคเต (VKontakte – VK) เมื่อปี 2006 แต่ขายหุ้นของตนทิ้งและเดินทางออกจากรัสเซียในปี 2014 โดยอ้างเหตุผลว่า มีความขัดแย้งกับเครมลินและหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัสเซีย (Federal Security Service – FSB) กรณีการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน

แม้จะมีท่าทีรักษาระยะห่างกับเครมลินและแอป VK อยู่เสมอ ดูรอฟก็เดินทางกลับรัสเซียถึงกว่า 50 ครั้งระหว่างปี 2015 และ 2021 ตามรายงานของสื่อ Important Stories ของรัสเซียที่ตีพิมพ์ข่าวไปยังผู้รับสารทั่วยุโรป โดยมีการระบุว่า การเดินทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของดูรอฟว่า ได้ตัดสายสัมพันธ์กับรัสเซียเป็นการถาวรแล้ว

ทั้งนี้ องค์กรสิทธิ์ด้านดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ได้มองกรณีการควบคุมตัวดูรอฟไปในทิศทางเดียวกัน

นาตาเลีย คราปิวา ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายเทคโนโลยีของ Access Now ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจับกุมดูรอฟและเตือนว่า กรณีนี้อาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปราบปรามอยู่ พร้อมกล่าวย้ำว่า มาตรการกำกับดูแลเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เทเลแกรม อาจส่งผลลบต่อนักเคลื่อนไหวและสื่ออิสระทั้งหลายได้

ราวินา ชามดาซานิ โฆษกของสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การจับกุมตัวดูรอฟนั้นนำมาซึ่ง “ความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน” และเรียกร้องว่า การดำเนินมาตรการจำกัดใด ๆ ก็ตาม “มีความพอเหมาะ” และ “เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล” ด้วย

ยาน เพนแฟรต ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบาย ของเครือข่าย European Digital Rights (EDRi) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ กล่าวว่า ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องของการที่รัฐบาลแทรกแซงการกำกับดูแลสื่อสังคมออนไลน์จนมากเกินไป แต่เป็นเรื่องของการขาดซึ่งการแทรกแซงมากกว่า

เพนแฟรตยังแย้งด้วยว่า สหภาพยุโรปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผ่านกฎหมายที่ชื่อ Digital Services Act ซึ่งเป็นกรอบการกำกับดูแลกิจการครบวงจรที่จะทำให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดและรับชอบในเรื่องต่าง ๆ ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG