นักวิเคราะห์ในเอเชียชี้ว่า รัสเซียพยายามขยายบทบาทอิทธิพลกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการประชุมและโครงการต่างๆ ร่วมกับสมาคมอาเซียน โดยตัวอย่างของเรื่องนี้ก็คือแผนที่นำทางห้าปีที่มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เศรษฐกิจดิจิตัล และการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนเป็นต้น
แบรดลี่ เมิร์ค นักวิเคราะห์ของ Cambodian Institute for Cooperation and Peace ชี้ว่ารัสเซียต้องการจะถูกมองว่าเป็นประเทศมหาอำนาจระดับโลกโดยผู้คนในประเทศของตัวเอง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ารัสเซียจะยังไม่มีพลังทั้งทางด้านการทหารและการเงินพอที่จะเป็นผู้เล่นรายสำคัญในภูมิภาคนี้ได้
ถึงกระนั้นก็ตาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็นับเป็นโอกาสหรือช่องทางที่ค่อนข้างง่ายสำหรับรัสเซียที่จะแทรกตัวเข้ามา โดยอาศัยความช่วยเหลือด้านวัคซีน Sputnik และการเปิดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจและการค้าที่เกาะไปตามเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งถนนของจีนเป็นต้น และเมื่อเดือนกันยายนในการประชุม Eastern Economic Union ครั้งที่หกที่เมืองวลาดิวอสสต๊อก ของรัสเซีย เวียดนามก็ได้เสนอตัวเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับรัสเซียและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Eurasia Economic Union ด้วย
ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ เอียน สตอรีย์ จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ก็ชี้ว่ารัสเซียมองตัวเองว่าเป็นประเทศมหาอำนาจและไม่พอใจเรื่องความร่วมมือทางทะเล AUKUS ระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนที่แล้ว รวมทั้งเรื่องกลุ่มความร่วมมือจตุรมิตร “the Quad” ระหว่างสหรัฐ ญี่ปุ่นอินเดีย และออสเตรเลียเพื่อต้านอำนาจจีนด้วย
ถึงแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียจะแสดงทีท่าไม่พอใจเกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกดังกล่าวและสำนักข่าว Tass จะรายงานว่ารัสเซียได้ส่งเรือรบและเรือดำน้ำจำนวนหนึ่งมายังมหาสมุทรอินเดียเพื่อประจำการอย่างถาวรโดยจะเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของรัสเซียก็ตาม นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่ารัสเซียยังไม่มีพละอำนาจทางทหาร ความพร้อมทางการเงิน หรือโอกาสการทำข้อตกลงด้านการค้าพอที่จะช่วยสร้างอำนาจอิทธิพลได้อย่างสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้ นอกจากกับเวียดนามและเมียนมาผ่านทางข้อตกลงขายอาวุธให้กับทั้งสองประเทศเท่านั้น
นอกจากนั้น เอียน สตอรีย์ จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ยังให้ตัวเลขว่าปริมาณการค้าระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงก่อนโควิดคือปี 2019 นั้นตกเพียงราวปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 5 หมื่น 2 พันดอลลาร์ระหว่างอังกฤษกับอาเซียน 9 หมื่น 3 พันล้านดอลลาร์ระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียน 3 แสน 6 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน และ 6 แสน 4 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์ระหว่างจีนกับอาเซียนตามลำดับ ทำให้รัสเซียเป็นเพียงผู้เล่นรายหนึ่งในภูมิภาคนี้แต่ยังไม่นับว่าเป็นผู้เล่นรายสำคัญ
ส่วนคุณแบรดลี่ เมิร์ค นักวิเคราะห์ของ Cambodian Institute for Cooperation and Peace ก็ชี้ว่ารัสเซียถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับจีนมากเกินไปกว่าที่จะเป็นผู้เล่นซึ่งมีความเป็นอิสระในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขณะนี้นักลงทุนของรัสเซียเองก็ยังค่อนข้างระวังตัวและไม่ค่อยแน่ใจ ดังนั้นโอกาสสำหรับรัสเซียในตอนนี้น่าจะเป็นการสร้างภาพเพื่อประชาสัมพันธ์ การเข้าร่วมประชุม และการออกคำแถลงเกี่ยวกับเส้นทางสู่ความร่วมมือในอนาคตเท่านั้นเอง