วิสัยทัศน์การมีพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ หรือแถบอาร์คติก ของรัสเซีย ซึ่งมีความคึกคักเข้มแข็งทางเศรษฐกิจนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตเดิม แต่ก็ต้องล้มครืนไปพร้อมกับการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิตส์และสหภาพโซเวียต
แต่มาขณะนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคดังกล่าวของรัสเซีย ในฐานะวาระแห่งชาติที่สำคัญในช่วงการดำรงตำแหน่งของตน
ประธานาธิบดีปูติน กล่าวว่า โครงการเหล่านี้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด และมอสโกก็เร่งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การคมนาคมขนส่ง การเดินเรือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการทหาร เช่นกัน
โดยสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ คือการส่งเรือดำน้ำ เรือตัดน้ำแข็ง เครื่องบินขับไล่ และยุทโธปกรณ์อื่นๆ ไปยังภูมิภาคนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซีย
ในภูมิภาคแถบขั้วโลกเหนือนี้ ถ่านหินเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และชาวเหมืองถ่านหินต่างตั้งคำถามว่า ทรัพยากร "ทองคำดำ" จะสามารถช่วยชุบชีวิตทางเศรษฐกิจได้หรือไม่?
แต่นักวิเคราะห์ของรัสเซียก็เตือนว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในขณะที่ภูมิภาคแถบขั้วโลกเหนือของรัสเซียสามารถพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ เช่น การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับกวางเรนเดียร์
คุณ Morgane Fert-Malka นักวิเคราะห์ของ Curious Arctic Consulting ที่กรุงมอสโก ได้เตือนว่า ผู้มีส่วนได้เสียจากยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคอาร์คติกของรัสเซีย ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกล เช่น ในอินโดนีเซีย หรือไมอามีด้วย
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในบริเวณขั้วโลกเหนือ ย่อมส่งผลกระทบไปทั่วโลกได้เช่นกัน