งานแสดงภาพถ่ายจำลองความตายของผู้ลี้ภัย มุ่งหมายสะท้อนสภาพปัญหาของกฎหมายที่ทำให้คนไทยต้องถูกขังคุกและลี้ภัย ในจังหวะที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
รูปภาพสถานที่สำคัญของการเมืองไทย เช่นกระทรวงกลาโหม สนามหลวง ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกนำเสนอในภาพถ่ายพร้อมกับกระสอบที่มีคนอยู่ข้างใน ประกบคู่ด้วยภาพเดียวกันผ่านสายตาของคนที่อยู่ด้านในนั้น
นี่คือนิทรรศการงานภาพถ่ายที่รับแนวคิดจากเรื่องราวของชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ สองผู้ลี้ภัยไทยที่หายตัวไปเมื่อปี 2561 ก่อนจะถูกพบเป็นศพในกระสอบบนแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา ด้วยร่างกายที่มีร่องรอยการรัดคอ ใบหน้าถูกทุบ ถูกคว้านท้องและยัดเสาปูนเข้าไปด้านใน
ทั้งสองเป็นผู้ใกล้ชิดและอยู่อาศัยกับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ลี้ภัยที่ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ซึ่งหายตัวไปในเวลาเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม
ชุดภาพถ่ายภายใต้ชื่อ There’s dead man inside (มีคนตายอยู่ข้างใน) โดยณัฐดนัย จิตบรรจง ถูกนำเสนอในกิจกรรมบรรยายกึ่งนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กรุงวอชิงตัน เมื่อ 30 กันยายน เพื่อสื่อสารถึงความเป็นปัญหาของ ม.112 ในสังคมไทย
หลายๆคนคงจะลืมไปแล้ว ว่ามันมีคนตายอยู่..ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ต้องคดี ม.112 ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ
ศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต หนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวไทย และผู้ต้องคดี ม.112 เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับกิจกรรม บรรยายสถานการณ์การเมือง และถาม-ตอบ กับผู้ร่วมงานทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาร่วมงานราว 30-50 คน
"ความกังวลใจของพวกเรา ต่อนักต่อสู้ด้านการเมืองนักกิจกรรมที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ถูกการกระทําจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอุ้มหาย..เรื่องเกี่ยวกับการสังหาร เรื่องเกี่ยวกับการลอบทําร้ายในตัวเองผมก็ถูกลอบทําร้ายเช่นเดียวกัน เราอยากจะสื่อสารตรงนี้ไม่อยากให้คนลืมว่าบุคคลเหล่านั้นเนี่ยได้ถูกรัฐไทยในกระทําอย่างไรนะฮะก็เลยมันเป็นที่มาของของเออนิทรรศการอันนี้ก็คือ หลายๆคนคงจะลืมลืมไปแล้ว ว่ามันมีคนตายอยู่..." ปวิน กล่าวกับ วีโอเอ ไทย
ปวินเป็นผู้ริเริ่มโครงการ 112 WATCH เมื่อปี 2564 เพื่อรณรงค์และสร้างความตื่นตัวในเวทีนานาชาติทั้งในระดับรัฐบาล ประชาสังคม วงการวิชาการ และคนไทยในต่างแดนถึงปัญหาที่เกิดจากมาตรา 112
งานในกรุงวอชิงตันครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินสายรณรงค์ในทวีปอเมริกาเหนือของปวิน ที่มีทั้งการจัดงานลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น การพบปะชุมชนคนไทย และเข้าพบกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และแคนาดาในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน
“ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา การคุยกับประเทศต่าง ๆ ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะยอมรับถึงข้อจำกัดในการให้การสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งเข้าใจได้ เพราะแม้แต่ในเมืองไทยเองก็ยังเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก”
“ผมเห็นว่า ณ นาทีนี้ เขา (ประเทศต่าง ๆ) เห็นว่าเป็นประเด็นที่อย่างไรเขาก็ต้องพูด แต่จะหาวิธีสื่อสารอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความละเอียดอ่อนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ปวินกล่าว
นักศึกษาชาวไทยในนครบอสตันคนหนึ่ง ที่เดินทางไปชมนิทรรศการดังกล่าวก่อนหน้านี้ในบอสตัน เล่าว่างานนิทรรศการ ทำให้เรื่องราวในไทยที่พูดตรง ๆ ไม่ได้ ถูกเล่าผ่านศิลปะได้ และสื่อสารให้ทั้งคนไทยและต่างชาติได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
“ชอบที่ฟังวันนี้เราได้แลกเปลี่ยน ก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีการที่เราจะพูดเรื่องนี้ได้มากขึ้นในประเทศไทย เพื่อที่จะรู้สึกว่าอะไรที่มันถูกปิด หรือว่าถูกจํากัด มันอาจจะไม่ได้นําไปสู่การนําไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น การที่เราเริ่มพูดคุยเรื่องแรกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมันอาจจะทําให้เราได้ไอเดียบางอย่างมากขึ้น เราอาจจะพัฒนาบางอย่างได้” เธอกล่าว
หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน
การรณรงค์ของ 112 WATCH เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าหาเสียงสนับสนุน เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี พ.ศ. 2568-2570
ภายใต้ HRC มีกลไกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาชาติทุก ๆ ห้าปี และเรื่อง ม.112 ของไทย ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาในทุกวงรอบตั้งแต่เมื่อปี 2554 ในแง่ปัญหาการตีความ การบังคับใช้ รวมถึงโทษจำคุก 3-15 ปี ที่มีผลต่อเสรีภาพในการแสดงออก
ปวินมองว่าการสมัครเป็นสมาชิก HRC โดยยังไม่แก้ไขเรื่อง ม.112 “เป็นความฝัน” และคิดว่าไทยยังไม่พร้อม
“ทำไมองค์การระหว่างประเทศถึงนำประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการ มันไม่ make sense (ฟังไม่ขึ้น) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ถ้าเราประสบความสำเร็จขึ้นมา ผมจะเคลือบแคลงใจมากกับการทำงานของคณะกรรมาธิการ (HRC) ที่จะเกิดขึ้น” ปวินกล่าวเมื่อสิ้นเดือนกันยายน
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 9 ตุลาคม ประเทศไทยได้รับการลงคะแนนโดยเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ให้เป็น 1 ใน 18 สมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
นิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอขณะมาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน ว่าระดับเสรีภาพการแสดงออกของไทยในภาพรวมยังเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
“ถ้าท่านดูประวัติ ดูภาพรวมของเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนประเทศไทย (ไทย) เป็นประเทศที่มีการเคารพสิทธิมนุษยชนสูงมาก ต้องไม่เอาประเด็นบางเรื่อง จะเป็นมาตรา 112 ก็ดี มาปนเปกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะว่าเราให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นสูงมาก และเป็นไปตามมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“ในขณะที่เรื่องมาตรา 112 ก็เขียนไว้ชัดอยู่แล้วว่าสิทธิ์ในการแสดงออกทําอะไรได้บ้างแค่ไหน ดังนั้นผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อการที่จะได้เสียงสนับสนุนในการนํามาซึ่งการเป็นสมาชิกของเรา แล้วเราก็ได้พูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย เราไม่เคยปิดบังประเด็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้” นิกรเดชกล่าว
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 จากการแสดงออก และการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 274 คนใน 307 คดี อ้างอิงจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมี 67 จากทั้งหมด 104 คน ที่ลี้ภัยในต่างแดนจากการต้องคดี ม.112
นอกจากคำถามด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว การดำรงอยู่ของ ม.112 ยังเป็นเงื่อนไขที่กำหนดชะตากรรมทางการเมืองของผู้ที่มีข้อเสนอในการแก้ไขบทบัญญัติมาตรานี้
เมื่อเดือนสิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล หลังมองว่าการนำเรื่องการแก้ไข ม.112 ไปหาเสียงนั้นอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จนเรียกเสียงวิจารณ์จากภาคประชาสังคมและประเทศตะวันตกหลายประเทศ
หลังจากคำวินิจฉัยไม่กี่วัน นิกรเดช ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวกระทำไปตามกลไกและหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ และไทยจะยังดำเนินตามค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองในฐานะรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศ
ก่อนหน้านั้น การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2566 ก็ประสบความล้มเหลว หลังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอในสภา โดยหนึ่งในเหตุผลของการไม่ยอมรับพรรคก้าวไกลนั้นมาจากเรื่องข้อเสนอให้มีการพูดคุยในสภาเรื่องการแก้ไข ม.112 เช่นกัน
กิจกรรมในกรุงวอชิงตัน เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง 112 WATCH กลุ่มกิจกรรม PrachathipaType และกลุ่ม Thais for Democracy DC, Virginia, and Maryland
กระดานความเห็น