ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘หุ่นยนต์ปฏิบัติการทางน้ำ’ – เทคโนโลยีช่วยปฏิบัติภารกิจหลากหลายทางทะเล


หุ่นยนต์ค้นหาทุ่นระเบิดตามแนวชายฝั่ง
หุ่นยนต์ค้นหาทุ่นระเบิดตามแนวชายฝั่ง

วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้ขยายไปถึงการทำภารกิจต่าง ๆ ทางน้ำที่มีความรุดหน้าขึ้นและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลานี้

หุ่นยนต์ของ Maritime Robotics ขณะทำการทดสอบที่แม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน
หุ่นยนต์ของ Maritime Robotics ขณะทำการทดสอบที่แม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน

ดิ ออตเตอร์ (The Otter) เป็นเรือผิวน้ำไร้คนขับ (Uncrewed Surface Vessel - USV) ถูกนำมาสาธิตการล่องข้ามฝั่งบริเวณแม่น้ำเทมส์ ในกรุงลอนดอน

โธมัส ไรห์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท แมริไทม์ โรบอติคส์ (Maritime Robotics)
โธมัส ไรห์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท แมริไทม์ โรบอติคส์ (Maritime Robotics)

โธมัส ไรห์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท แมริไทม์ โรบอติคส์ (Maritime Robotics) อธิบายถึง The Otter ว่าเป็นUSV อัตโนมัติ ซึ่งก็คือ “เรือผิวน้ำไร้คนขับพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีโซนาร์ รวบรวมข้อมูลจากพื้นทะเลใต้ท้องมหาสมุทร และผสานข้อมูลที่ได้กับแผนที่ GPS แสดงผลให้เราเห็นว่า พื้นทะเลมีลักษณะเช่นไร”

ภายในงานการประชุมเทคโนโลยีใต้ท้องทะเลที่จัดขึ้นที่กรุงลอนดอนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน นอกจาก The Otter แล้ว ยังมีเรือหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบ โดยมีการคาดว่า ตลาดหุ่นยนต์ใต้น้ำจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าในทศวรรษหน้า และมีปัจจัยหนุนหลักก็คือ เทคโนโลยีที่มีราคาถูกลงและสามารถตอบสนองได้ในหลากหลายภารกิจ

ไรห์ กล่าวถึงพัฒนาการว่า "ก่อนหน้านี้ คุณจะต้องมีพาหนะขนาดใหญ่และอุปกรณ์เทอะทะเพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูล แต่ (ตอนนี้) เราได้ย่อขนาดให้คนเพียงคนเดียวสามารถควบคุมได้จากโต๊ะทำงานที่บ้าน”

บริษัท เชสซิง อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี (Chasing Innovation Technology) เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตโดรนใต้น้ำที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย อย่างเช่น ใช้ตรวจสอบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน ใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งใช้ปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิต

เดนนิส เฮ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เชสซิง อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี (Chasing Innovation Technology)
เดนนิส เฮ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เชสซิง อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี (Chasing Innovation Technology)

เดนนิส เฮ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท เชสซิง อธิบายถึงศักยภาพของโดรนใต้น้ำ โดยชี้ว่า “หนึ่งในหุ่นยนต์ของเรา สามารถติดอุปกรณ์เสริมได้มากกว่า 20 รายการ ยกตัวอย่างเช่น ในการการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือด้านสิ่งแวดล้อม เราสามารถเก็บตัวอย่างน้ำหรือติดตั้งตัวรับสัญญาณ ส่วนในภารกิจเพื่อค้นหาและให้ความช่วยเหลือ คุณสามารถใช้คลื่นเสียงโซนาร์ โดยเฉพาะโซนาร์สำหรับการถ่ายภาพ เพื่อตรวจจับ (สัญญาณ) ของร่างกายได้"

ในบางภารกิจที่อันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์ เช่น การค้นหาทุ่นระเบิดตามแนวชายฝั่ง การใช้หุ่นยนต์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ บริษัท กรีนซี ไอคิว (Greensea IQ ) ที่ตั้งในรัฐเวอร์มอนต์ ได้พัฒนาเรือหุ่นยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกที่ชื่อ “เบย์โอเนท” (Bayonet) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่มีคลื่นซัดเข้าชายฝั่ง

หุ่นยนต์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ของ Bayonet
หุ่นยนต์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ของ Bayonet

เบน คินนาแมน ซีอีโอ บริษัท Greensea IQ ชี้ถึงโอกาสที่มาพร้อมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยกล่าวว่า “สิ่งที่หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมอบให้กับเรา คือ ภารกิจใหม่ ๆ พร้อมกับวิธีการใหม่ ๆ”

ในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่าเราจะได้เห็นนวัตกรรมเรือหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติที่ก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์จัดการภารกิจต่าง ๆ ได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะช่วยให้เราสามารถสำรวจ “สิ่งที่ไม่เคยค้นพบ” มาก่อน ใต้ท้องทะเลลึก

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG