การเขียนจดหมายหรือข้อความด้วยลายมือ เป็นสิ่งคนเราใช้ส่งข่าวสาร และแสดงออกถึงความรู้สึกลึก ๆ ข้างใน มาเป็นเวลานานนับร้อยปี ลายมือยังเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล ที่ตัวพิมพ์ในยุคดิจิตอลไม่สามารถทดแทนได้
แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้หันไปใช้บริการจ้างหุ่นยนต์เขียนจดหมายและการ์ดอวยพรเลียนแบบลายมือมนุษย์ หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานว่า หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถทำให้ตัวหนังสือหรือลายมือออกมาสมจริง บางแห่งมีการทำให้เกิดรอยเปื้อน รอยน้ำหมึกหยด หรือตั้งโปรแกรมให้หุ่นยนต์เว้นช่องไฟ ลงน้ำหนักมือไม่สม่ำเสมอ เพื่อให้เหมือนการเขียนคนมากที่สุด
Handwrytten เป็นบริษัทแห่งหนึ่งในรัฐอริโซน่า ที่ใช้หุ่นยนต์ 80 ตัว บรรจงนั่งเขียนจดหมาย การ์ดขอบคุณ และบัตรอวยพรด้วยปากกาสีน้ำเงินกว่า 100,000 ชิ้นต่อเดือน
ในช่วงห้าปีตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ฐานลูกค้าของ Handwrytten ได้ขยายกว้างมากขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มเผยแพร่ศาสนาที่ส่งการ์ดให้นักโทษในเรือนจำ ลูกหลานที่ส่งจดหมายให้พ่อแม่ ไปจนถึง ร้านค้าแบรนด์หรู บริษัทผลิตรถยนต์ และองค์กรไม่หวังผลกำไร ที่ยอมจ่าย 3 ดอลล่าร์ หรือประมาณเกือบหนึ่งร้อยบาท สำหรับการ์ดหนึ่งใบที่เขียนโดยลายมือของหุ่นยนต์ คาดว่า รายได้ของบริษัทในปีนี้จะโตขึ้นสามเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
Handwrytten มีแบบตัวอักษรให้เลือกประมาณ 20 แบบ ลูกค้ายังสามารถให้บริษัทสร้างฟ้อนท์จากลายมือจริง ๆ ของตัวเอง ในสนนราคา 1,000 ดอลล่าร์ ส่วนผู้ที่ต้องการเพิ่มลายเซ็นต์ ต้องจ่ายอีก 150 ดอลล่าร์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ มักจะเป็นนักการเมือง หรือผู้บริหารบริษัท
หุ่นยนต์เหล่านี้ใช้เวลาในการเขียนการ์ดแต่ละใบประมาณ 4-5 นาที ซึ่งเดวิด วัคส์ (David Wachs) เจ้าของบริษัทมองว่ายังช้าเกินไป แต่ข้อดีของหุ่นยนต์คือสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องมีเวลาพัก เครื่องจักรเหล่านี้จะส่งเมสเสจไปหาพนักงานมนุษย์ เพื่อแจ้งว่ากระดาษ หรือปากกาหมึกหมด
นอกจาก Handwrytten ยังมีบริษัทอื่น ๆ ในอเมริกา เช่น Felt ในรัฐโคโลราโด ที่ให้ลูกค้าใช้นิ้วมือ หรือปากกาสไตลัส (stylus) เขียนข้อความลงบนสมาร์ทโฟน ก่อนที่จะส่งมาให้บริษัท หรือบริษัท Postable ในนิวยอร์ก ที่ให้ลูกค้าตั้งเวลาส่งการ์ดได้ล่วงหน้าเป็นปี นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่น ที่จ้างคนจริง ๆ มานั่งเขียนการ์ดหรือจดหมายประมาณ 1,000 ฉบับต่อสัปดาห์
นักวิจารณ์มองว่าการเอ้าท์ซอร์ส (outsource) หรือมอบงานเหล่านี้ให้หุ่นยนต์ ทำให้การเขียนข้อความส่วนตัวของมนุษย์สูญเสียคุณค่าที่เคยมี และเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้าง “ของจริงแบบปลอม ๆ” ขึ้นมา
เอเลน แฮนด์เลอร์ สปิทส์ (Ellen Handler Spitz) อาจารย์มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นแผนการธุรกิจที่ชาญฉลาด แต่การให้หุ่นยนต์เขียนข้อความส่วนตัวทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกทรยศ เพราะการเขียนด้วยลายมือ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามและใช้เวลา แสดงออกถึงความสนิทสนมลึกซึ้งระหว่างผู้ให้และผู้รับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการบางคนกลับบอกว่า พวกเขายินดีที่จะให้หุ่นยนต์เขียนการ์ดแทน เพราะพวกเขาไม่ชอบการนั่งเขียน บ้างก็บอกว่าลายมือของตัวเองดูไม่ได้ นอกจากนั้น พวกเขายังมองว่าจะเขียนเอง หรือให้เครื่องจักรเขียนก็ไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า “เจ้าของลายมือ” คือความคิดถึงและความตั้งใจ ที่ผู้ส่งมีให้ผู้รับ