สำนักข่าวเอพีระบุว่า ขณะนี้ หุ่นยนต์นับร้อยตัวกำลังเคลื่อนไหวบนทางเท้าเพื่อไปส่งอาหารในหลายเมืองของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ด้วย
การใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเเพร่หลายมากขึ้น มาสาเหตุสำคัญมาจากที่การระบาดของโควิดทำให้ผู้บริโภคมักนิยมรับสินค้าหรืออาหารแบบ contactless หรือที่ไม่ต้องมีการสัมผัสกับตัวคนส่งอาหาร บวกกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารบางที่หันไปเพิ่งเครื่องจักรกลในการส่งอาหารแทนมนุษย์
อลิสแตร์ เวสเกตส์ ซีอีโอของบริษัทหุ่นยนต์ Starship Technologies บอกกับเอพีว่า “ความต้องการที่จะใช้หุ่นยนต์นั้นมีอยู่แล้ว แต่การระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้งานจริงมากขึ้น”
บริษัทข้างต้นเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์จาก 250 ตัวในปี 2019 มาเป็นกว่า 1,000 ตัวในปีนี้ และได้มีการส่งอาหารด้วยหุ่นยนต์ไปแล้วถึง 2 ล้านครั้งในหลายพื้นที่ เช่นที่ประเทศอังกฤษ ประเทศเอสโตเนีย และรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกา
บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยตลาด NPD ระบุว่า การสั่งอาหารแบบส่งถึงบ้านได้รับความนิยมมากขึ้นถึง 66% ในสหรัฐฯ ในเวลา 6 เดือนแรกของปีนี้ และแม้สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นแต่ความต้องการของผู้บริโภคในการสั่งอาหารด้วยวิธีดังกล่าวจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากผู้คนชื่นชอบกับความสะดวกสบายในการทานอาหารวิธีนี้
ทางเลือกใหม่ของร้านอาหาร
เชฟและผู้ดูแลร้านอาหาร จี เฮ คิม แห่งร้าน Miss Kim ในรัฐมิชิแกนบอกกับเอพีว่า เธอใช้หุ่นยนต์ส่งของมากขึ้นตั้งแต่ที่ต้องปิดพื้นที่การทานอาหารภายในร้านลงเพราะการระบาดของโควิด โดยเธออธิบายว่าเธอชื่นชอบการใช้หุ่นยนต์มากกว่าบริษัทส่งอาหารทั่วไปเพราะบริษัทเหล่านี้จะเรียกเก็บค่าใช้บริการที่สูงจากร้านของเธอ พร้อมทั้งยังส่งอาหารพร้อมกันหลายๆ รายการ ทำให้อาหารไม่ร้อนเมื่อไปถึงลูกค้า ไม่เหมือนกับหุ่นยนต์ที่วิ่งส่งอาหารทีละรายการไป
เธอยังบอกอีกว่า หุ่นยนต์ส่งอาหารเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจต่อลูกค้า หลายๆคนมักจะโพสต์วิดีโอลงบนโซเชียลมีเดียเมื่อรับอาหารจากหุ่นยนต์อีกด้วย นอกจากนี้ National Restaurant Association ของสหรัฐฯ ยังระบุว่า 75% ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารประสบปัญหางานจ้างแรงงาน หลายๆ ที่จึงหันไปเติมเต็มช่องหว่างในการส่งสินค้าด้วยหุ่นยนต์
การควบคุมหุ่นยนต์
สำหรับเรื่องการควบคุมหุ่นยนต์เหล่านี้ สำนักข่าวเอพีระบุอีกว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมพร้อมกันหลายตัวในเวลาเดียวกัน มีน้อยครั้งเท่านั้นที่จะมีการแทรกแซงเพื่อช่วยให้หุ่นยนต์ข้ามสิ่งกีดขวางไปได้หรือไม่ก็สั่งให้หุ่นยนต์หยุดเลย ทั้งนี้ เมื่อหุ่นยนต์เดินทางถึงจุดหมาย บริษัทจะส่งรหัสปลดล็อคฝาหุ่นยนต์ไปให้ผู้ที่สั่งอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อให้หยิบอาหารได้
รูปลักษณ์ของหุ่นยนต์เหล่านี้จะไม่เหมือนกันทั้งหมด บ้างขับเคลื่อนแบบสี่ล้อ บ้างก็ใช้ถึงหกล้อ แต่หลักๆพวกมันจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 5 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยใช้กล้อง เซ็นเซอร์ จีพีเอสนำทางหรือเลเซอร์เพื่อสแกนพื้นที่โดยรอบเวลาที่จะต้องนำอาหารไปส่งหรือเมื่อข้ามถนน
พื้นที่ที่สามารถใช้งานหุ่นยนต์ส่งของได้
ส่วนนักวิเคราะห์ บิลล์ เรย์จากบริษัทที่ปรึกษา Gartner อธิบายว่า พื้นที่ที่สามารถรองรับการใข้งานได้ โดยเฉพาะการมีทางเท้าที่กว้างอย่างในมหาวิทยาลัยหรือบริษัทใหญ่ๆ นั้น การขนส่งด้วยหุ่นยนต์จะเติบโตเร็วมาก
Rival Kiwibot ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์ขนส่งอีกแห่งได้มีการใช้หุ่นยนต์กว่า 400 ตัวส่งดิลิเวอรี่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆและที่ใจกลางเมืองไมอามี่ของรัฐฟลอริด้าแล้ว ส่วนบริษัทส่งอาหารชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง Grubhub ก็ได้จับมือกับบริษัทผลิตหุ่นยนต์ Yandex ของรัสเซียและวางแผนใช้งานหุ่นยนต์ส่งของกว่า 40 ตัว ที่มหาวิทยาลัย Ohio State University ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
ทางด้านร้านพิซซ่าที่มีสาขาทั่วสหรัฐฯอย่าง Domino’s ก็ได้ร่วมงานกับบริษัทหุ่นยนต์สตารท์อัพยี่ห้อ Nuro ที่สามารถขับเคลื่อนตามถนนใหญ่ได้ด้วยความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมง ต่างจากยี่ห้ออื่นซึ่งขนส่งด้วยทางเท้าอย่างเดียว ขณะนี้ Nuro กำลังทดลองการส่งอาหารและของใช้จากซูเปอร์มาร์เก็ตไปยังบ้านคนในเมืองเช่น ฮิวสตันในรัฐเท็กซัส ฟิกนิกซ์ในรัฐแอริโซนา และเมาเทนท์วิวในรัฐแคลิฟอร์เนีย
รองประธานกรรมการของ Domino’s นายเดนนิส มาโลนี ชี้ว่าแม้หุ่นยนต์จะยังมีราคาสูงอยู่ในตอนนี้ แต่ในอนาคต
ราคาของพวกมันก็น่าจะเริ่มถูกลง ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่เคลื่อนตัวบนทางเท้าได้ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ดอลลาร์ซึ่งก็ถูกกว่าการจ้างคนขับที่เงินเดือนจะอยู่ราว 47,650 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์นำสมัยเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ เช่น ต้องชาร์จไฟบ่อย มีความเชื่องช้าเวลาเคลื่อนไหวและมีรัศมีการส่งของในระยะใกล้ๆ เท่านั้น ซ้ำยังไม่สามารถโต้ตอบกับผู้คนได้ นอกจากนี้ เมืองใหญ่ๆ อย่าง นครนิวยอร์ก กรุงปักกิ่ง หรือซานฟรานซิสโกก็ไม่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการมีหุ่นยนต์ส่งของพวกนี้
สุดท้ายนี้ เอพีระบุว่า หุ่นยนต์ส่งของนั้นไม่ได้มาแย่งงานมนุษย์เสมอไป อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัย Bowling Green State University ซึ่งเพิ่งเริ่มหันมาส่งอาหารแบบดิลิเวอรี่ครั้งแรกแก่นักเรียนตามจุดต่างๆ ในมหาลัยเมื่อหุ่นยนต์พวกนี้ถูกนำมาใช้ การขยายโมเดลการขายอาหารรูปแบบนี้ทำให้จึงเกิดการจ้างงานคนเพิ่มขึ้นถึง 30 ตำแหน่งเพื่อมาทำหน้าที่บรรจุอาหารใส่หุ่นยนต์นั่นเอง
(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)