ขณะที่ราวครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็มนั้น คนทำงานหลายล้านคนก็กำลังเริ่มเตรียมตัวถูกเรียกกลับเข้าไปทำงานในสถานที่ตามเดิม แต่นักจิตวิทยาชี้ว่าการเปลี่ยนกลับดังกล่าวอาจไม่ง่ายเหมือนกับการปิดเปิดสวิตซ์ จากปัจจัยและผลกระทบหลายอย่างด้วยกัน
ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คืออาจารย์ Ravi Gajendran หัวหน้าภาควิชาการจัดการและภาวะผู้นำระดับโลกของคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Florida International University ผู้สอนนักศึกษาทางระบบออนไลน์มานานหลายเดือนแล้ว ซึ่งเขาก็เหมือนคนทำงานอื่นอีกหลายล้านคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับรูปแบบการทำงานจากที่บ้านได้เป็นอย่างดีแล้วแถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางอีกด้วย
แต่เมื่อทางมหาวิทยาลัยขอให้เขากลับเข้าไปในที่ทำงานอีกครั้งเพื่อเตรียมการสำหรับการกลับคืนสู่ภาวะกิจกรรมตามปกติ อาจารย์ Ravi ก็ยอมรับว่าการต้องปรับตัวอีกครั้งให้เข้ากับกิจวัตรใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการเปิดปิดสวิตช์ไฟและได้สร้างความเครียดไม่น้อยเลยทีเดียว
โอกาสของการเปลี่ยนกลับสู่ภาวะปกติใหม่ซึ่งยังไม่ปกติ 100% นี้ได้สร้างปัญหาให้กับหลายคน เพราะอย่างที่อาจารย์ Kristen Carpenter หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ของศูนย์การแพทย์ Wexner ที่มหาวิทยาลัย Ohio State University ได้ชี้ว่าคนเรานั้นไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอนก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับคนทำงานโดยทั่วไปด้วย
ส่วนคุณ Catheen Swody นักจิตวิทยาองค์การก็เสริมว่าการเปลี่ยนกลับจากการทำงานที่บ้านเข้าไปยังที่ทำงานนั้นสร้างปัญหาท้าทายมากกว่าการอนุญาตให้คน work from home ได้ในช่วงต้นของการระบาดใหญ่จากเหตุผลสองสามอย่างด้วยกัน โดยข้อแรกนั้นเป็นเพราะหลายคนยังไม่ค่อยแน่ใจเกี่ยวกับไวรัส หรือยังกลัวเรื่องโอกาสการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นอยู่
นอกจากนั้นบางคนก็มีความกังวลเรื่องการต้องทำงานใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานซึ่งอาจจะมีทัศนะมุมมองเรื่องไวรัสโควิด-19 ต่างจากตน โดยความวิตกกังวลเรื่องนี้ยังถูกเสริมด้วยความกระวนกระวายใจเกี่ยวกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่จะต้องสร้างขึ้นใหม่ในที่ทำงาน ทั้งนี้เนื่องจากหลายคนอาจเสียทักษะของการเข้าสังคมจากการที่ไม่ได้พบหน้าผู้คนอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน รวมทั้งจากความเครียดเกี่ยวกับการวางแผนเดินทางและเวลาที่ต้องใช้ด้วย
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือปัญหาภาวะท่วมท้นด้านประสาทสัมผัสรับรู้ในสถานที่ทำงานเมื่อเทียบกับการทำงานเงียบๆ อย่างเป็นเอกเทศอยู่ที่บ้าน เพราะสภาพแวดล้อมในที่ทำงานนั้นมักเต็มไปด้วยแสง เสียง สีสันของภาพต่างๆ ที่ได้เห็น และการเคลื่อนไหวรวมทั้งจากกลิ่นต่างๆ อีกด้วย โดยอาจารย์ Timothy Golden ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการได้เตือนว่าคนที่กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศจะต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับกับสภาพแวดล้อมที่อึงคะนึงและเต็มไปด้วยความขวักไขว่ของการเคลื่อนไหวจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว
อย่างไรก็ตามอาจารย์ Kristen Carpenter ของมหาวิทยาลัย Ohio State University ได้ชี้ว่าคนบางกลุ่มอาจชอบการได้กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศโดยเฉพาะกลุ่มคนอายุน้อย เช่น คนรุ่น Gen Z หรือคนรุ่น millennial เป็นต้น เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะมองว่าการได้กลับเข้าไปในที่ทำงานจะเป็นโอกาสที่ดีของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์และโอกาสของการสร้างเครือข่ายทางสังคมขึ้นมา
นอกจากนั้นอาจารย์ Timothy Golden ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการยังบอกด้วยว่าลักษณะวิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของเราจะมีผลต่อการปรับตัวและการรับความเปลี่ยนแปลงจากการ work from home เป็น back to office ได้ เพราะสำหรับคนที่ชอบแบ่งเรื่องต่างๆ ออกเป็นสัดส่วนหรือที่เรียกว่า segmentation นั้นคนกลุ่มนี้มักจะชอบแยกชีวิตการทำงานออกจากชีวิตที่บ้านและครอบครัว ส่วนคนที่เป็นนักผสมผสานหรือ integrator คนกลุ่มนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไรที่จะยอมและยินดีให้เวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวที่บ้านหรือชีวิตสำหรับครอบครัวของตนนั้นปะปนผสมผสานไปด้วยกัน